MFC โกอินเตอร์ปักหมุด “สิงคโปร์” ขยายฐานลูกค้าต่างชาติ

HoonSmart.com>> บลจ.เอ็มเอฟซี เปิดแผน 3 ปี ตั้งเป้าขยายสินทรัพย์โต 15% ต่อปี เน้นกลยุทธ์เชิงรุกขยายฐานลูกค้าอาเซียน ลุยตั้งบริษัทย่อยในสิงคโปร์ เป็นสาขาดึงเงินนอกเข้าลงทุน หวัง 12 เดือนแรกเห็น 2,000 ล้านบาท เป้า 3 ปีดูด 6 หมื่นล้านบาท พร้อมปัดฝุ่นกองทุนเดิม ปั้นผลงานดีดึงลูกค้า ผนึกแบงก์ออมสินช่วยขายกองทุน ด้านการลงทุน คงเป้าหุ้นไทย 1,750 จุด มองกลุ่มท่องเที่ยว บริโภคและพลังงานน่าสนใจ

เดนนิส ลิม

นายเดนนิส ลิม กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า แผนงานใน 3 ปีข้างหน้าบริษัทฯ ตั้งเป้าขยายมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เติบโตเฉลี่ยปีละ 15% จากสิ้นปี 2562 คาดว่า AUM จะเพิ่มขึ้นแตะ 543,000 ล้านบาท หรือเติบโต 17.2% จากสิ้นปี 2561 ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ AUM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 480,991 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 463,199 ล้านบาท

“เป้าหมายจากนี้ คือ การเน้นคุณภาพของกองทุน สร้างผลงานให้ดีขึ้น โดยลดจำนวนกองทุนภายใต้การบริหารที่มีมากถึง 260 กองทุนลงและนำเสนอกองทุนที่เป็นเรือธงหรือ Flagship Fund ประมาณ 10 กองทุน แก่นักลงทุน รวมทั้งขยายฐานลูกค้าไปยังอาเซียน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันขึ้นสู่ระดับภูมิภาค และพัฒนาด้านดิจิตัล ซื้อขายกองทุนผ่านช่องทางต่างๆ ได้มากขึ้น”นายเดนนิส กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จะเน้นเชิงรุก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทย่อยในสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นสาขาและเป็นแหล่งบริหารเงินให้นักลงทุนไทยที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศ และดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าไฮเน็ตเวิร์คและนักลงทุนสถาบัน โดยตั้งเป้า AUM ในช่วง 12 เดือนแรกที่เปิดให้บริการจะเติบโต 2,000 ล้านบาทและใน 3 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้ปิดสาขาในประเทศที่ไม่สร้างรายได้จำนวน 3 แห่งที่จังหวัดพิษณุโลก ภูเก็ตและอุบลราชธานี ทำให้ปัจจุบันเหลือสาขาที่ระยอง เชียงใหม่ หาดใหญ่และขอนแก่น ส่วนสาขาในกรุงเทพ นอกจากสำนักงานใหญ่แล้ว ยังมีที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะและปิ่นเกล้า

นายเดนนิส กล่าวว่า สำหรับการยุบกองทุนรวมภายใต้บริหารให้มีจำนวนน้อยลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยกองทุน Flagship Fund จำนวน 10 กองที่จะเป็นเรือธงของบริษัทนั้นแต่ละกองทุนมีมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไฮ-ดิวิเดนด์ ฟันด์ (HI-DIV) เน้นหุ้นปันผล กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี พร็อพเพอร์ตี้ ดิวิเดนด์ ฟันด์ (M-PROP DIV) ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิล อินคัม (D) (MPII) กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี หุ้นไทย เมกะ (A) (M-MEGA) และกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี หุ้นไทย เมกะ (D) (M-MEGA) เป็นต้น

“ภายใน 3 ปีข้างหน้าตั้งเป้าว่า กองทุน Flagship Fund ในแต่ละกองจะต้องมีขนาดแตะ 10,000 ล้านบาท”นายเดนนิส กล่าว

ส่วนแผนการออกกองทุนใหม่ในปีนี้จะมีทั้งกองทุนหุ้นและตราสารหนี้ รวมถึงกองทุนที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมองแนวโน้มเศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดี

นอกจากนี้บริษัทมีแผนขยายฐานลูกค้าผ่านธนาคารออมสินที่เป็นพันธมิตรและผู้ถือหุ้นมากขึ้น โดยนำเสนอกองทุนเป็นทางเลือกให้ลูกค้าธนาคารในช่วงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ขณะเดียวกันขยายตัวแทนจำหน่ายกองทุนเพิ่มขึ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์และธนาคาร รวมถึงขยายยอดขายผ่านผู้แนะนำการลงทุนของบริษัทและผ่านช่องทางดิจิทัลที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ทั้งนี้ นายเดนนิส เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี ตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนเทมเพิลตันมานาน รวมทั้งแต่งตั้งนายสุเมธา ลิ่วเฉลิมวงศ์ อดีตบริหารจัดการกองทุนเทมเพิลตัน มารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO) ของบริษัท

สุเมธา ลิ่วเฉลิมวงศ์

นายสุเมธา ลิ่วเฉลิมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในครึ่งหลังของปี 2562 มองดัชนีจะมีความผันผวนสูงขึ้น โดยต้องติดตามประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่กระทบเป็นระยะๆ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราชะลอตัวลง ประกอบกับตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นมาเร็วเพิ่มขึ้น 10% ทำให้ระดับ P/E อยู่ที่ 16-17 เท่าแล้ว และยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะเข้ามากระตุ้นตลาดชัดเจนมากนัก

“ครึ่งปีแรกหุ้นไทยขึ้นแรงจากเงินไหลเข้าจากความเชื่อมั่นจากนโยบายการเงินของเฟดและธนาคารกลางทั่วโลกส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่ภาพครั้งปีหลังดัชนีน่าจะทรงๆ ตัว จึงยังคงเป้าหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,750 จุด เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ที่เติบโตชะลอลงเหลือประมาณ 3% และคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต 7-8% โดยหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและกลุ่มพลังงาน เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลงมามากแล้ว”นายสุเมธา กล่าว

สำหรับทิศทางเงินไหลเข้าในครึ่งหลังของปี 2562 คาดว่าจะชะลอลง จากครึ่งปีแรกที่ไหลเข้ามาประมาณ 5 หมื่นล้านบาทจากค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ แต่มองแนวโน้มค่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าไปมากกว่านี้ เพราะจะกระทบตลาดโดยรวมและหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้