นักวิเคราะห์ฟันธงซื้อ BBL ชี้เป้า 220-236 บาท

HoonSmart.com>>นักวิเคราะห์ 7 ราย พร้อมใจกันแนะนำซื้อหุ้น BBL  น่าสนลงทุน ปันผลสูง 3-4% พบผู้บริหารแบงก์ยืนเป้าหมายปีนี้ ยันมีสินเชื่อพร้อมปล่อยอีกมาก  มั่นใจโต 4%  เอ็นพีแอลคุมอยู่  

บล.ทิสโก้ แนะนำ “ซื้อ” หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) ราคาเป้าหมาย 228 บาท/หุ้น หลังจากเข้าประชุมนักวิเคราะห์ในไตรมาส 2/2562 มีประเด็นสำคัญ สินเชื่อหดตัวลง 2.3% แต่ผู้บริหารยังคงมั่นใจในเป้าทั้งปีที่ขยายตัว 4-6% จากสินเชื่อภาครัฐที่จะกลับมาขยายตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่มีโอกาสที่การเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 4%

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อ SME ในกลุ่มพาณิชย์และการผลิต โดยการตัดจำหน่ายในไตรมาส 2 ส่วนใหญ่มาจาก SME และธุรกิจระหว่างประเทศ ด้านสินเชื่อปรับโครงสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 9.55 หมื่นล้านบาท จากเดิม 9.43 หมื่นล้านบาท โดยที่กว่า 60% ของ TDR เป็นสินเชื่อปกติ

ผู้บริหารมองว่า สามารถรักษาระดับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ได้ หลังจากที่ลดลงในไตรมาส 2 โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการจัดลำดับชั้นของหนี้ใหม่ ทำให้ผู้บริหารคาดว่า NIM จะกลับมาขยายตัวหลังจากนี้เป็นต้นไป

มุมมองของเรา ตลาดกังวลในด้านสินเชื่อที่อ่อนแอ และ NPL ที่เพิ่มขึ้น โดยราคาหุ้นของ BBL ปรับตัวลดลง 5% เทียบกับดัชนีหุ้นที่คงที่ และคิดเป็น P/BV ที่ 0.80 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี

อย่างไรก็ตาม กำไรเป็นไปตามคาดครึ่งปี อยู่ที่ 1.83 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 46% จากประมาณการทั้งปี แม้ว่ารายได้จะอ่อนแอ แต่ผู้บริหารมองว่าเป้าทั้งปียังมีความเป็นไปได้ หาก BBL สามารถรักษา RoE ที่ 9.4% มูลค่าที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 225 บาท/หุ้น ใกล้เคียงกับเป้าของเรา ส่วนความเสี่ยงคือ การปรับลดดอกเบี้ย  ความล้มเหลวในการร่วมมือกับ AIA และคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลง

บล. ดีบีเอส  วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย  250 บาท ราคาปัจจุบัน 182.50 บาท ซื้อขายที่สัดส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี ( P/BV) ปีนี้ต่ำเพียง 0.8 เท่า และให้อัตราผลตอบแทนปันผล ประมาณ 3.5-4% ส่วนธุรกิจมีแนวโน้มจะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง การตั้งสำรองค่าเผื่อฯอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท และไม่มีแผนที่จะกลับสำรองฯมาเป็นรายได้

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองราคาหุ้น BBL ที่ปรับลงมามาก เป็นโอกาสเข้า “ซื้อลงทุน” ราคาเป้าหมาย 236 บาท

ผู้บริหารมั่นใจสินเชื่อโตตามเป้าหมาย ยังมีสินเชื่อที่คาดว่าจะปล่อยอีกมากพอ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจภาคการผลิต และธุรกิจพลังงาน ไม่กังวล NPL คาดคุมได้ตามเป้าที่ 3.5% และยืนยันจะพยายามไม่กลับสำรองกลับมาเป็นกำไร หลังใช้ IFRS9 ต้นปี 63  ยังคงประมาณการกำไรปี 62 อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท โต 7.3% จากครึ่งปีทำได้จำนวน 48.5% ของประมาณการกำไรทั้งปีของเรา

BBL ยังคงเป้าหมายทางการเงินเหมือนเดิม ทั้งสินเชื่อที่โตถึง 4%, NIM ที่ 2.4% เท่าปีก่อน และ Cost to Income Ratio ราว 45% แม้ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อ หนี้ NPL ณ สิ้นมิ.ย.อยู่ที่ 3.5% ในไตรมาสนี้มี NPL ที่เพิ่มมาจากหนี้ที่ปรับโครงสร้างแล้วของสินเชื่อ SME กลับมาเป็นหนี้เสียอีก ขณะที่สินเชื่อ corporate 2-3 รายในต่างประเทศ ถูกนับเป็น NPL แม้ยังไม่เข้าเกณฑ์ธปท.เพราะประเทศนั้นๆ มีเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทเหล่านั้นยังจ่ายหนี้เป็นปกติ ทั้งนี้ผู้บริหารยังยืนยันว่า NPL เกิดใหม่ ยังต่ำอยู่ ซึ่งในไตรมาสนี้มีการทบทวนพอร์ตทั้งหมด และมีการตัดหนี้สูญ หรือ write off ราว 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าอาจมีการ write off จำนวนมากอีกครั้งภายในปีนี้ อย่างไรก็ดี BBL ยังคงเป็นธนาคารที่ conservative เช่นเดิม จะพยายามทุกอย่างที่จะไม่กลับสำรองกลับมา

“ยังคงเลือก BBL เป็น Top Pick ของเราในกลุ่มธนาคารพาณิชย์  ถือเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนพื้นฐานขนาดใหญ่ และมีฐานรายได้ที่กระจายไปในต่างประเทศ เราค่อนข้างชอบในนโยบาย conservative ของ BBL ล่าสุดยังมี coverage ratio ถึง 186% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับระบบ อีกทั้งราคาปัจจุบันยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น  “บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

บล.เคจีไอ แนะนำ “Outperform”  ข้อมูลที่ได้จากการประชุมนักวิเคราะห์ของ BBL มีทั้งด้านบวกและลบ เรายังคงประมาณการกำไรไว้เท่าเดิม และคงราคาเป้าหมายเอาไว้ที่ 227 บาท แม้ว่า NPL ไหลเข้ามากขึ้น แต่ไม่ได้แย่เหมือนเมื่อปี 2559-2560 และธนาคารยังไม่มีแผนจะกลับรายการสำรองส่วนเกินฯไปเป็นรายได้พิเศษ

บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 235 บาท คงประมาณการกำไรปี 2562 ไว้ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% กำไรครึ่งปีแรก เติบโต 1% คาดว่ายังน่าจะรักษาปันผลระหว่างกาลไว้ได้ที่ 2 บาท/หุ้นได้ คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 1.1%

บล.เอเชีย เวลท์  แนะนำ ซื้อ ปรับราคาเป้าหมายใหม่เป็น  225  บาท คาดครึ่งปีหลัง สินเชื่อจะสามารถกลับมาโต  โดยปรับลดจาก 5% เป็น 3% NPL ที่เพิ่มขึ้นไม่น่าเป็นกังวล และคงเป้าหมายค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองปี 2562 ที่ 2 หมื่นล้านบาท

บล. คิงส์ฟอร์ด แนะนำซื้อให้ราคาเพียง 220  บาท