FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนสู่โหมด Bullish ครั้งแรกรอบ 5 เดือน

HoonSmart.com>> “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เดือนส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สอง มอง 3 เดือนข้างหน้าสดใส แตะ Bullish เป็นเดือนแรกในรอบ 5เดือน เงินไหลเข้า-เฟดผ่อนคลายนโยบายหนุน พร้อมเกาะติดสงครามการค้าและกังวลผลประกอบการบจ. ยกหุ้นกลุ่มพาณิชย์เด่น ส่วนมุมมองดอกเบี้ย คาดกนง.คงอัตรา 1.75%

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2562 ว่า ผลสำรวจ ณ เดือนก.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (Bullish) ช่วงค่าดัชนี 120 – 159 เพิ่มขึ้น 19.89% มาอยู่ที่ระดับ 131.21 เป็นเดือนแรกในรอบห้าเดือน

ผลสำรวจพบว่าเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศและแนวโน้มนโยบายทางการเงินสหรัฐเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายทางการเงินของสหรัฐ จากการส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 และการคาดหวังนโยบายภาครัฐ ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถคาดการณ์ได้ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง

“ผลสำรวจ ณ เดือนก.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สอง มาอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงเป็นเดือนแรกในรอบห้าเดือน โดยกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ทรงตัวอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรงอย่างมาก กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ทรงตัวมาอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรง ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศลดลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมา อยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว”นายไพบูลย์ กล่าว

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพาณิชย์ (COMM) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)

ด้านความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนก.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวเคลื่อนไหว Sideway ในช่วง 1706-1748 จุด จากระดับสูงสุดช่วงต้นเดือนเคลื่อนไหวลดลงสลับกับการพักตัว โดยดัชนีมาอยู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1706 จุด ในช่วงปลายเดือน

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางปัญหาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐจากการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ 10% ในสินค้านำเข้าจากจีนในส่วนที่เหลือ และการงดนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐของจีน ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่ามาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี

แนวโน้มการเก็บภาษีนำเข้าภาษีรถยนต์ของสหรัฐที่ส่งผลต่อยุโรปและญี่ปุ่น การเจรจา Brexit ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอังกฤษท่านใหม่ที่ประกาศออกจาก EU ในวันที่ 31 ต.ค.62 ไม่ว่าสามารถได้ข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม สัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของ EU จากปัจจัยเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ทิศทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจากตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 6.2% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง

ด้านน.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนสิงหาคม 2562ว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนสิงหาคมนี้ อยู่ที่ระดับ 52 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนสิงหาคมนี้ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.75 ต่อไป โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง เป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญ

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. กันยายน 2562 (ประมาณ 7 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 45 และ 48 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)” ซึ่ง Bond yield 5 ปีอยู่ที่ระดับ 1.75% และ Bond yield 10 ปีอยู่ที่ 1.95% ณ วันที่ทำการสำรวจ (19 ก.ค. 62) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่มีแนวโน้มลดลง อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ และ Fund flow จากต่างชาติ

“ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.75% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 7 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (19 ก.ค. 62) เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน”น.ส.อริยา กล่าว