ASP ชี้เงินหยวนอ่อนกระทบ “ค้าปลีก-ท่องเที่ยว-สายการบิน-ชิ้นส่วนฯ”

HoonSmart.com>> บล.เอเซียพลัส ชี้ค่าเงินหยวนอ่อน กระทบส่งออก “กลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง-ท่องเที่ยวและโรงแรม-ขนส่งทางอากาศ-ชิ้นส่วน” BEAUTY โดนเต็มๆ ส่งออกไปจีน 30% กำลังซื้อหดกระทบโรงแรม ERW-CENTEL ท่าอากาศยานและสายการบิน AOT – AAV – BA

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ “เงินหยวนอ่อนค่า กระทบหุ้นกลุ่มไหนมากสุด” หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน รอบที่ 4 อัตรา 10% วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ มีผลวันที่ 1 ก.ย.62 นี้ ทำให้สงครามการค้าร้อนแรงขึ้นมาอีก

ขณะที่ก่อนหน้านี้ผลกระทบจากสงครามการค้าหลังสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน อัตรา 25% จำนวน 3 รอบ วงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญฯ ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว (GDP Growth ปี 62-63 IMF คาดขยายตัว 6.2% yoy ชะลอเหลือ 6% และภาคการผลิต คือ PMI ของจีนล่าสุดชะลอลงติดต่อกัน 4 เดือน อยู่ที่ 49.9 จุด

ล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ปรับค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 7.0357 หยวนต่อดอลล่าร์ฯ ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี จากก่อนหน้าแกว่งบริเวณ 6.87 ในเดือนมิ.ย.-ก.ย.62 เพื่อช่วยเหลือภาคส่งออกในประเทศ

ในอดีตเมื่อวันที่ 11 ส.ค.58 PBOC เคยประกาศให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงครั้งแรกในรอบ 20 ปี อยู่ที่ 6.4 หยวนต่อดอลลาร์ จากกำหนดอยู่ที่ 6.208 หยวนต่อดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในปี 58 ที่เริ่มชะลอตัว (ดังรูป)

ด้านสหรัฐฯ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศเพิ่มจีนในบัญชีดำเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน จากเดิมจีนอยู่ในรายชื่อประเทศที่เฝ้าาระวัง (Monitoring List) ทั้งนี้ผลกระทบจากการถูกขึ้นบัญชีดำดังกล่าว อาจส่งผลให้จีนไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ เช่น FTA กับสหรัฐฯได้ รวมถึงสหรัฐฯอาจดำเนินมาตรการอื่นๆตอบโต้ และลดข้อได้เปรียบของจีนจากเงินหยวนที่อ่อนค่าได้

อย่างไรก็ตามจีนไม่ได้มี FTA กับสหรัฐฯโดยตรง จึงคาดว่าผลกระทบของการถูกขึ้นบัญชีแทรกแซงค่าเงินต่อเศรษฐกิจจีน น่าจะจำกัด โดยรวมทำให้แนวโน้มค่าเงินในประเทศเอเซียเทียบดอลลาร์อ่อนค่าตามเกือบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินบาท/ดอลลาร์ที่ยังแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค หรือแข็งค่าราว 5.3% นับตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 30.82 บาทต่อดอลลาร์

ผลจากเงินหยวนต่อดอลลาร์ที่อ่อนค่าแรงดังกล่าว ทำให้ในเชิงเปรียบเทียบค่าเงินบาทต่อหยวนแข็งค่าแรง โดยแข็งค่าและทำจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปี 8 เดือน อยู่ที่ 4.38 บาท/หยวน และแข็งค่าราว 6% นับตั้งแต่ต้นปี

ผลกระทบต่อไทย คือ ภาคการส่งออก ไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีน มากที่สุดราว 8.02 หมื่นล้านเหรียญในปี 61 หรือคิดราว 16% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมดของไทย กระทบ คือ ผู้ส่งออกจะมีรายได้ลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลบาทต่อหยวนและบาทต่อดอลลาร์, ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นในสายตาผู้นำเข้าจีน

ทั้งนี้หากพิจารณาสินค้าส่งออกไทยไปจีนหลักๆ คือ เม็ดพลาสติก 10.3% ของสินค้าส่งออกไปจีนทั้งหมด, ผลิตภัณฑ์ยาง 9.4%, เคมีภัณฑ์ 9.1%, คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน 7%, ยางพารา 6.5% เป็นต้น

สำหรับหุ้นในกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง BEAUTY กระทบจากประเด็นกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง โดยสัดส่วนยอดขายของนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 5-10% ของยอดขายรวม, ความสามารถในการแข่งขันในจีนลดลง เนื่องจาก BEAUTY ส่งออกไปจีนราว 30% ของรายได้รวม

กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน เป็นอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เงินบาท/หยวนที่แข็งค่า สร้างแรงกดดันต่อกำลังซื้อของชาวจีนและกระทบต่อธุรกิจที่โรงแรม โดยเฉพาะ ERW ที่มีโครงสร้างรายได้พึ่งพาโรงแรมในไทยราว 94%, CENTEL สัดส่วนร้านอาหารและธุรกิจโรงแรม 62% และ 37% ของรายได้, MINT กระทบน้อยกว่า เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจหลากหลาย คือ มาจากธุรกิจร้านอาหาร ส่วนรายได้จากโรงแรมส่วนใหญ่มาจากโรงแรมในต่างประเทศ

กลุ่มขนส่งทางอากาศ หากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังนี้จากฐานต่ำปีก่อน ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จะกระทบต่อประมาณการหุ้นการบินทั้งหมด ซึ่งฝ่ายวิจัย ASP ตั้งสมมติฐานปริมาณจราจร โดยรวมผลบวกการฟื้นตัวจากฐานตํ่าปีก่อน ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบความอ่อนไหวอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสารทุกๆ 1% ที่เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการเดิม

ขณะที่ AOT เป็นการกำหนดการเติบโตของผู้ใช้บริการทุกๆ 1% ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะกระทบต่อกำไรสุทธิปี 62 ของ AOT, AAV,BA ลดลง 1.4%, 23%, 70.6% ส่วน THAI พลิกจากกำไรเป็นขาดทุน ตามลำดับ

กลุ่มโรงพยาบาล คาดกระทบต่อโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติจำกัด (BH,BDMS, PR9 และ BCH) เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากชาวจีนคิดเป็นเพียง 1-3% ของกลุ่มฯ

กลุ่มอาหาร CPF มีรายได้เป็นเงินหยวน 25% ของรายได้รวม ค่าเงินบาท/หยวนแข็งค่าจะทำให้แปลงรายได้เป็นบาทได้น้อยลง ขณะที่ธุรกิจในจีนแทบไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากมีการซื้อขายภายในนั้นอยู่แล้ว

กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ เงินบาท/หยวนแข็งค่า จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็น KCE, DELTA, SVI และ HANA เทียบกับผู้ประกอบการจีนลดลง