หุ้นแบงก์ใหญ่ลงต่อ กลัวลดดอกเบี้ย 0.25% กดกำไร1-3%

HoonSmart.com>>แบงก์ใหญ่ยังถูกขายต่อ  กลัวลดดอกเบี้ยตาม  คาดธปท. หั่นอีกครั้งปีนี้  สินเชื่อปล่อยยากเศรษฐกิจโตน้อย บล.ทิสโก้แนะซื้อ  BBL-KBANK- SCB  บล.เคทีบี ชู SCB-KKP

ตลาดหุ้นวันที่ 8 ส.ค. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,665 จุด ลดลง  4.32 จุด มูลค่าการซื้อขาย 62,650 ล้านบาท ยังคงมีแรงขายหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปิดที่ 165.50 บาทติดลบ 2 บาทหรือ 1.19%  กรุงไทย (KTB) ร่วง 2.73% ปิด 17.80 บาท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ลดลง 1.46% หรือ 2.50 บาท  ปิด 169  บาท ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บวก 0.50 บาท ปิดที่ 132 บาท หลังจากนักลงทุนกังวลว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 1.50%

บล.ทิสโก้เชื่อว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย  ซึ่งมีโอกาสที่จะไม่เปลี่ยนแปลง  แต่หากธนาคารขนาดใหญ่มีการปรับลดดอกเบี้ยตาม ธปท. จะได้รับผลกระทบในเชิงลบมากกว่าธนาคารขนาดเล็กเนื่องจากระยะเวลาของสินเชื่อที่ยาวกว่า และระยะเวลาเงินฝากที่ต่ำ คาดธนาคารใหญ่จะลดลง 1-2% โดย SCB จะได้รับผลกระทบต่ำสุดในกลุ่ม 4 แบงก์ใหญ่ และมีเพียง BAY และ KKP ที่ได้รับปัจจัยบวกราว 0.4% แต่ TCAP จะได้รับปัจจัยลบราว 1% เนื่องจากมีพอร์ตเงินลงทุนในสินเชื่อ และเงินลงทุนใน Interbank แนะนำให้ “ซื้อ” BBL, KBANK และ SCB โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 228 บาท, 225 บาท, 150 บาท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คงน้ำหนักการลงทุนหุ้นแบงก์เป็น “เท่ากับตลาด” แต่ราคาหุ้นวานนี้ปรับตัวลง 2-3% เชื่อว่าตอบสนองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% ไปแล้ว แต่หาก ธปท. มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อจะทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ในปัจจุบัน

“เราเชื่อว่า กลุ่มธนาคารจะเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตาม ส่วนฝั่งเงินฝากน่าจะทรงตัวหรือลดลงเพียงเล็กน้อย และคาดว่า กนง. มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในเดือน ก.ย. หากธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% จะมีผลกระทบต่อกำไรแบงก์ปีนี้1-3% รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะหดตัวลง 0.01-0.05% และราคาเป้าหมายเฉลี่ย -0.7% หากลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.50% จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิในปี 2563 ที่ -2-13%, NIM จะหดตัวลง 0.06-0.12% และมี Downside ต่อราคาเป้าหมายเฉลี่ย -3.6% ธนาคารที่ได้รับผลกระทบต่อราคาเป้าหมายจากมากไปน้อยคือ BBL, KBANK, KTB และ SCB ประมาณ 4.0-5.4% (ลดอัตราดอกเบี้ย 0.50%)

ส่วนปัจจัยพื้นฐานคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง จากโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและ EEC แต่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับตัวลงอีกในปีนี้ และมีความเสี่ยงจากการปรับลดจีดีพี จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อได้ ขณะที่ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคาร ณ ปัจจุบันลงมาซื้อขายที่ระดับ 1.5 เท่าของมูลค่าหุ้นทางบัญชี ย้อนหลัง 5 ปี มองว่า เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เลือก SCB และ KKP เป็น Top pick ชอบ SCB ราคาเป้าหมาย 145 บาท ส่วน KKP ราคาเป้าหมาย 80 บาท ยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากดีล IB ที่มีอยู่อีกจำนวนมาก และได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ อัตรา 0.25%ในปีนี้ โดยมีเหตุผลจาก 3 ปัจจัย คือ

1.ความเสี่ยงและผลกระทบของสงครามการค้ามีเพิ่มสูงขึ้น 2.แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐอาจไม่มากและเร็วพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า และ 3.ภาวะการเงินไทยอาจยังไม่ผ่อนคลายเพียงพอ เพราะค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาถึง 5.5% ในปีนี้ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย อีกทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV measure) ที่ประกาศใช้ไปแล้วยังทำให้การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจึงอาจมีความจำเป็น