AAV-THAI-NOK ขาดทุนยับ นักท่องเที่ยวหาย-ค่าเงินบาทแข็ง

HoonSmart.com>>ธุรกิจการบินบาดเจ็บหนัก เอเชีย เอวิเอชั่น ขาดทุน 482 ล้านบาท การบินไทย 6,883 ล้านบาท นกแอร์ 674 ล้านบาท นักท่องเที่ยวจีนหดตัว การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น AAV ป้องกันความเสี่ยง ซื้อประกันน้ำมันล่วงหน้า 62 เหรียญ ปีนี้ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารที่ 23.15 ล้านคน

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น(AAV)  ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดผลงานงวดไตรมาสที่2/2562 มีขาดทุนสุทธิ 482 ล้านบาท แย่กว่าระยะเดียวกันปีก่อนจำนวน 176 ล้านบาทคิดเป็น 57.51% จากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 306 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ 6 เดือนปีนี้เหลือกำไรสุทธิ 14 ล้านบาท จากที่มีกำไรสุทธิ 698 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน

“ในไตรมาส 2 ปีนี้ มีจำนวนผู้โดยสารรวม  อยู่ที่ 5.58 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเปิดเส้นทางบินใหม่ 7 เส้นทาง และเพิ่มความถี่บินเส้นทางยอดนิยม เช่น กรุงเทพฯ ร้อยเอ็ด ขอนเเก่น เเละเซินเจิ้น  โดยมีรายได้รวม 10,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 1,390 บาทต่อคน ลดลงเล็กน้อย มาจากการแข็งค่าของเงินบาท และการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนจากการอ่อนค่าลงของเงินหยวน ส่งผลให้อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 83% ลดลง 2 จุด ส่วนรายได้บริการเสริมอยู่ที่ 1,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% คิดเป็ยรายได้เสริมต่อคนเท่ากับ 336 บาทเพิ่มขึ้น 9%”

ส่วนค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 10% เป็น 10,804 ล้านบาท โดยหลักมาจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเที่ยวบิน ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 14% มีอัตราการตรงต่อเวลาของเที่ยวบิน 86% และไม่มีการรับมอบเครื่องบิน แต่ยังคงขยายเส้นทางบินใหม่ ส่งผลให้อัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเป็นไปตามเป้าหมายที่ 12.5 ชั่วโมงปฎิบัติการบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 11.9 ชั่วโมงปฎิบัติการบินต่อวัน

บริษัทยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 212.5 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนจำนวน 49.2 ล้านบาท และมีการบันทึกรายการพิเศษจากหนี้สินสำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานจำนวน 111 ล้านบาท

ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีรายได้รวม 21,637 ล้านบาท เติบโต 4% น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 10%เป็น 21,297 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแบบธรรมชาติ คือจัดการให้รายจ่ายอยู่ในสกุลเงินเดียวกับรายรับให้มากที่สุด และปรับโครงสร้างเงินกู้ให้สอดคล้องกับสกุลเงินของเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานโดยจะใช้เครื่องมือทางการเงินมาบริหารความเสี่ยง ทางด้านราคาน้ำมันในครึ่งปีหลัง บริษัทได้ประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 62 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในสัดส่วน 70% ของปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง คาดรัฐบาลต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าที่จะสิ้นสุดเดือนต.ค.นี้ออกไปจนถึงเดือนมี.ค. 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ ประมาณ 41% เติบโต 7% และมีรายได้จากท่องเที่ยวรวม 3.38 ล้านล้านบาท สำหรับบริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารที่ 23.15 ล้านคนและอัตราขนส่งผู้โดยสาร 86% พร้อมรับเครื่องบินใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานมากขึ้นรวมเป็น 63 ลำ

ส่วนสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วง เดือนม.ค.-มิ.ย. 2562 มีจำนวน 19.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในเดือนเม.ย.-มิ.ย. ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 9 ล้านคน ส่วนใหญ่ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียน,ชาวจีน และยุโรป โดยนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 20% ส่วนนักท่องเที่ยวจีนหดตัวสูงสุด 8% ส่วนเศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศหดตัว ขณะที่ภาคบริการและการท่องเที่ยวขยายตัวเล็กน้อย แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์มาจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐฯ ผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival-VOA)ก็ตาม

บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่าในไตรมาส 2/2562 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 6,883 ล้านบาท แย่ลงจำนวน 3,785 ล้านบาท คิดเป็น 122% จากที่มียอดขาดทุนสุทธิ 3,098 ล้านบาท รวมครึ่งปีนี้ขาดทุนสุทธิ 6,438 ล้านบาท เทียบกับที่ขาดทุนสุทธิเพียง 381 ล้านบาทในระยะเดียวกันปีก่อน

บริษัทมีรายได้รวม 42,509 ล้านบาทไตรมาส 2  ลดลง 10% มีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 522 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี

สาเหตุที่บริษัทขาดทุน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่วนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงประมาณ 6% มาอยู่ที่ 68.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมากส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาลดลง โดยเฉพาะจากจีน รวมถึงการปลดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา รวมถึงการให้บริการเส้นทางการบินที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบิน

ในไตรมาส 2  บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริมภายใต้โครงการ “มนตรา” ฟื้นฟูการบินไทยแบบเร่งด่วนโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้บริษัทหลุดพ้นจากวงจรของกับดักปัญหา และสามารถมีผลประกอบการที่มั่นคงต่อไปในอนาคต

บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) ในไตรมาส 2 /2562 ขาดทุนสุทธิ 674 ล้านบาทดีขึ้นจากที่มียอดขาดทุน 829 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน  แต่รวม 6 เดือนปีนี้ขาดทุนสุทธิ 979 ล้านบาท มากกว่าที่ขาดทุนสุทธิ 856 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.91% รายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3.28% ขณะที่ต้นทุนต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสารลดลง 4.33% จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 2.02 ล้านคนลดลง 8.18%จากจำนวน 2.20 ล้านคน