คอลัมน์ KTAM Focus : ยุทธการ “กู้” โลก

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

“ยีลด์ติดลบ” สร้างความฮือฮาในตลาดการเงินระยะนี้ เนื่องจาก Bloomberg เผยข้อมูลว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา “ตราสารหนี้ยีลด์ติดลบ” มีมูลค่ารวมกันทั่วโลกแตะระดับ 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มากสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นมา 1 ล้านล้านเหรียญในระยะเวลาแค่สัปดาห์เดียว ผลจากเงินลงทุนแห่เข้าซื้อพันธบัตรที่เชื่อว่า “ปลอดภัย” เพราะวิตกกังวลว่าการที่ ปธน.ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษี 10% สินค้านำเข้าจากจีน 3 แสนล้านดอลลาร์ ต่อด้วยธนาคารกลางจีนปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์ อาจฉุดเศรษฐกิจโลกดิ่งเหว

 

 

เหรียญมีสองด้าน ยีลด์ติดลบลามตลาดตราสารหนี้โลก สร้างปัญหาแก่นักลงทุนหรือ “เจ้าหนี้” จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องพึ่งพา “รายได้ประจำ” (income) จากสินทรัพย์ลงทุน เพราะผลตอบแทนที่ต่ำลงๆจะทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อแผนการใช้จ่ายในอนาคต แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยีลด์ต่ำหรือติดลบกลับเป็นประโยชน์ต่อ “ลูกหนี้” ได้แก่ รัฐบาลหรือองค์กรที่ต้องการกู้ยืมจากตลาด เพราะต้นทุนทางการเงินต่ำลงมาก

 

 

PIMCO ชี้ยีลด์ติดลบอาจลามถึงสหรัฐฯ วอนรัฐบาลทั่วโลกอัดงบกระตุ้นการคลัง

Joachim Fels กรรมการผู้จัดการและที่ปรึกษาเศรษฐกิจโลกของ PIMCO บริษัทจัดการลงทุนชั้นนำอันดับต้นๆในตลาดตราสารหนี้ ให้สัมภาษณ์ Bloomberg ชี้ความเป็นไปได้ในอนาคต (แม้อาจไม่ใช่เร็วๆนี้) ยีลด์พันธบัตรสหรัฐฯอาจปรับตัวลงจนต่ำกว่า 0% เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป โดยปัจจัยสำคัญที่กดยีลด์ลงคือ สภาพคล่องส่วนเกินอันเนื่องมาจาก “ความต้องการออม” ปริมาณมหาศาลทั่วโลก (global saving glut) ของบุคคลและบริษัทต่างๆ ทั้งนี้ ท่ามกลางสภาวะปัจจุบัน หากธนาคารกลางประเทศใดกำหนดดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่า “จุดดุลยภาพ” (equilibrium คืออัตราดอกเบี้ยที่ทำให้เงินเฟ้อทรงตัวใกล้เป้าหมาย) ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิด “ภาวะเงินฝืด” และ “เศรษฐกิจถดถอย”

ธนาคารกลาง ไม่ใช่ต้นเหตุแต่เป็น “เหยื่อ” ของปัญหานี้ โดย Fels เชื่อว่า ผู้ที่สามารถกอบกู้โลกจากภาวะ ยีลด์ติดลบ – ออมมากไป ควรเป็น “รัฐบาล” ที่จะต้อง “กู้” เงินมาใช้จ่ายและจัดงบประมาณให้ขาดดุลมากกว่านี้ …แม้กูรูเศรษฐศาสตร์มิได้เอ่ยชื่อประเทศ แต่ใครที่ติดตามเศรษฐกิจคงทราบดีว่า รัฐบาลที่ควรปรับปรุงเรื่องนี้เป็นอันดับแรกๆคงไม่พ้น “เยอรมนี”

พูดไม่ทันขาดคำ!!! แหล่งข่าวในรัฐบาลแย้ม เยอรมนี ซึ่งจัดงบประมาณเกินดุลหรือสมดุลมานาน (ใช้จ่ายไม่เกินรายได้) อาจจะ “แหวกม่านประเพณี” โดยออกพันธบัตรใหม่ เพื่อกู้เงินมาใช้ทำโปรเจคยักษ์เกี่ยวกับการปกป้องสภาพอากาศ ถึงแม้รัฐบาลออกมาปฏิเสธทันควัน “ยังไม่มีข้อสรุป” ในเรื่องดังกล่าว (แต่มิได้ยืนยันว่าไม่เคยหารือกัน) ก็เป็นไปได้ว่า รัฐบาลของเยอรมนี ประเทศผู้ส่งออกซึ่งเศรษฐกิจกำลังอ่อนแอลงอย่างมากเพราะสงครามการค้า อาจปล่อยข่าวลือชิ้นนี้ออกมาเองเพื่อโยนหินถามทาง แล้วตลาดก็ตอบรับในแง่บวก (มาก) จึงมีโอกาสไม่น้อยที่เยอรมนีอาจจะจัดงบขาดดุลและกู้เพิ่มในไม่ช้า

ยุทธการ “กู้” โลก ให้รอดพ้นภาวะถดถอย/เงินฝืดในคราวนี้น่าจะเป็นการ “กู้เพิ่ม” โดยรัฐบาลของนานาประเทศ (โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เคยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากๆ) ควรจัดทำงบประมาณขาดดุลมากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการภาครัฐต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การออกพันธบัตรมากขึ้นจะช่วยเพิ่มอุปทานในตลาดตราสารหนี้ หนุนให้ยีลด์ปรับตัวขึ้นมาบ้าง เป็นประโยชน์แก่ผู้ออมและนักลงทุนระยะยาว …ทว่าในระยะสั้น การที่ยีลด์เริ่ม “กลับทิศ” ฟื้นตัวขึ้นมา อาจทำให้บรรดานักเก็งกำไรบางส่วนที่ไล่ซื้อพันธบัตรยีลด์ติดลบ “เจ็บหนัก” เพราะขาดทุนส่วนต่างราคา (capital losses) จนต้องแห่ปิดสถานะ กระตุ้นให้กระแสเงินทุน “หมุน” ออกจากตลาดตราสารหนี้แล้วไปเข้าสู่ “ตลาดหุ้น” อย่างจริงจังเสียที!

เราชอบกองทุนหุ้นในตลาดที่ “ราคายังถูก” เพราะน่าจะคาดหวัง upside ได้มาก โดยยังคงเน้นตลาดเกิดใหม่ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จาก Fund Flows ไหลเข้า รวมถึง “หุ้นไทย” ที่เพิ่งพักฐานลงมาทำให้ระดับราคาน่าสนใจยิ่งขึ้นในปัจจุบัน