แฉ 12 บจ.ตกเป็นเหยื่ออินไซด์- 3 อดีตบิ๊กอีวายยอมรับโทษแพ่ง

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.เปิดข้อมูล 3 อดีตผู้บริหาร สำนักงาน อีวาย ยอมรับโทษทางแพ่ง อินไซด์ข้อมูลลูกค้า 12 บริษัท ได้แก่ FORTH-GC-GRAND-PF-ATP30-UKEM- PM-PT-CTW-TRC-BA-DTAC

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานว่า วันที่ 30 ก.ค. 2562 นายวโรตม์ หน่อแก้ว นางสาวจีรนันท์ บูรณรักษ์ และนางสาวจีราภรณ์ บูรณรักษ์ อดีตผู้บริหาร บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลก ได้ตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง หลังตรวจพบการกระทำความผิด การใช้ข้อมูลภายในของลูกค้ามาหาประโยชน์ส่วนตัวในการซื้อขายหุ้น หรืออินไซดเดอร์เทรดดิ้ง  โดยลูกค้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด 12 บริษัท ประกอบด้วย1.บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) 2.บริษัท โกลบอล คอนเน็คชั่นส์( GC) 3.บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) 4. บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) 5.บริษัท เอทีพี 30 ( ATP30) 6. บริษัท ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล (UKEM) 7. บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ( PM) 8.บริษัท พรีเมียร์ เทคโนโลยี (PT) 9.บริษัท จรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิ้ล (CTW) 10.บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC ) 11.บริษัท การบินกรุงเทพ (BA) และ 12. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)

นายวโรตม์ หน่อแก้ว ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีระดับผู้จัดการของบริษัท สำนักงาน อีวาย กระทำความผิด ระหว่างวันที่ 16 ก.พ. 2558 ถึงวันที่ 29 ก.ค.2559 ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในจากร่างงบการเงินในระบบของบริษัท อีวาย เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้า จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ (1) FORTH (2) GC (3) GRAND (4) PF และ (5) ATP30 และได้อาศัยข้อมูลภายในดังกล่าวในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 16 ก.พ.-10 พ.ย. 2560 นายวโรตม์และนางสาวจีรนันท์ บูรณรักษ์ได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในจากร่างงบการเงินในระบบของบริษัท อีวาย เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่เป็นลูกค้าจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ (1) UKEM(2) PM (3) PT และ (4) CTW และได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในจากการได้รับการเปิดเผยข้อมูลภายในจากนางสาวจีราภรณ์ บูรณรักษ์อีก 3 บริษัท ได้แก่ (1) TRC (2) BA และ (3) DTAC แล้วนายวโรตม์และนางสาวจีรนันท์ได้ร่วมกันซื้อหลักทรัพย์และเข้าผูกพันในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว

นายวโรตม์ ตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด คือชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด 1,620,598.50 บาท ชำระค่าปรับทางแพ่ง 6,004,275.58 บาท,ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นเวลา 10 ปี รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 10 ปี และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 35,567 บาท

ส่วนนางสาวจีรนันท์ ตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับ  1,106,108.50 บาท ,ชำระค่าปรับ  3,504,275.58 บาท ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 10 ปี และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 35,567 บาท

สำหรับนางสาวจีราภรณ์ ได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่สายงานของนางสาวจีราภรณ์รับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทาน ซึ่งมีสิทธิดูร่างงบการเงินในระบบ และได้เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวจำนวน 3 บริษัท ให้แก่นางสาวจีรนันท์ โดยรู้หรือควรรู้ว่าบุคคลดังกล่าวจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จึงตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ชำระค่าปรับทางแพ่ง 1.5 ล้านบาท ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 10 ปี และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 30,485 บาท