SAMART ฟื้น ส่ง “สามารถ ทรานส์โซลูชั่น” ยื่นไฟลิ่งขายหุ้น Q3/62

HoonSmart.com>> “กลุ่มสามารถ” ฟื้นตัว ไตรมาส 2/62 กวาดรายได้ 4,420 ล้านบาท กำไรสุทธิ 56 ล้านบาท พลิกจากงวดปีก่อนขาดทุน 182 ล้านบาท ธุรกิจไอซีทีรายได้รวม 3,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% กลุ่มสามารถดิจิตอลขาดทุนลด เตรียมส่ง “สามารถ ทรานส์โซลูชั่น” เน้นลงทุนธุรกิจการจราจรทางอากาศ ยื่นไฟลิ่งก.ล.ต. ในไตรมาส 3 นี้

บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) กำไรสุทธิไตรมาส 2/2562 จำนวน 55.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 182.80 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.18 บาท ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2562 กำไรสุทธิ 256.16 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.25 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 169.26 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.17 บาท

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SAMART เปิดเผยว่า ไตรมาส 2 ปี 62 บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,420 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 56 ล้านบาท โดยสายธุรกิจ ICT Solution มีรายได้ไตรมาส 2 ถึง 3,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 80 ล้านบาท โดยบริษัทได้ลงนามสัญญาโครงการใหม่รวมมูลค่า 5,793 ล้านบาท ประกอบด้วย งานรับจ้างออกแบบ จัดหา พัฒนา ติดตั้งและดูแลบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลักของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โครงการของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงบริษัท ทีโอที ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2562 บริษัทมีมูลค่างานคงค้างรวม 9,274 ล้านบาท

ในขณะที่สายธุรกิจดิจิตอล ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตั้งโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอลและเสาโทรคมนาคมในกรมอุทยานแห่งชาติ ก็เริ่มทยอยรับรู้รายได้แล้วและจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสาม

ส่วนธุรกิจ Contact Center โดย บริษัท วันทูวันคอนแทคส์ มีรายได้ 188 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 5 เปอร์เซนต์ ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดราว 27 เปอร์เซนต์ และมีมูลค่างานในมือทั้งสิ้น 828 ล้านบาท มีองค์กรผู้ใช้บริการในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มประกัน กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสายการบิน รวมแล้วกว่า 80 รายในปัจจุบัน

สายธุรกิจ U-TRANS ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านพลังงานและสาธารณูปโภค มีรายได้รวม 761 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจบริหารและควบคุมการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชาโดย บริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) นอกจากนี้ บริษัทย่อย คือ เทด้า ก็มีผลการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เซ็นสัญญาโครงการจัดหาและจ้างก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 115 kV สิงห์บุรี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลค่า 358 ล้านบาท

นายวัฒน์ชัย กล่าวถึงแนวทางในการรุกธุรกิจของกลุ่มสามารถในช่วงครึ่งปีหลังว่า เนื่องด้วยรัฐบาลมีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ย่อมส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร คมนาคม ซึ่งกลุ่มสามารถเทลคอมก็เริ่มต้นครึ่งปีหลังได้สวย สามารถชนะประมูลงานสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมทหารกับกองบัญชาการกองทัพไทย มูลค่า 598 ล้านบาท, โครงการจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณสวนสาธารณะ กับกรุงเทพมหานคร มูลค่า 168 ล้านบาท และยังมีงานรอประมูลในครึ่งปีหลังอีกกว่า 9 พันล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 62 จะมีงานในมือมากกว่า 12,000 ล้านบาท

ในขณะที่สายธุรกิจดิจิตอลก็อยู่ในช่วงพลิกฟื้นและทยอยรับรู้รายได้ใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นรายได้ประจำต่อไป ส่วนสายธุรกิจ ยูทรานส์ ก็มีรายได้ประจำที่แข็งแกร่ง จากธุรกิจควบคุมการจราจรทางอากาศในปัจจุบัน

ด้านคณะกรรมการบริษัทได้ลงมติให้บริษัทฯ นำบริษัทย่อย คือ บริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด (STR) ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ เข้าระดมทุนโดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และจะนำหุ้นสามัญทั้งหมดของ STR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ

ปัจจุบัน STR ได้ถือหุ้น 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) และเมื่อ บริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และเปลี่ยนเป็นชื่อ “บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

“การนำบริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของกลุ่มสามารถที่จะขยายธุรกิจ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการจราจรทางอากาศให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นเรายังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นรอบด้าน โดยผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับกลุ่มสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความคุ้มค่าสูงสุดให้กับลูกค้าของเรา”นายวัฒน์ชัย กล่าว