ฟิทช์คาด EBITDA ผู้ให้บริการมือถือปีนี้ทรงตัว ค่าใช้จ่ายโครงข่ายสูงขึ้น

HoonSmart.com>> “ฟิทช์” คาดกำไร EBITDA จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทย ถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายปรับตัวสูงขึ้น แม้ผลดีแพ็กเกจอันลิมิเต็ดจบ คาด ADVANC อีบิทด้าทรงตัวเท่าปีก่อน 7.4 หมื่นล้านบาท ส่่วน DTAC คาดอีบิทด้าลด 10-11% เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 เนื่องจากการแข็งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 2/62 ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ได้เริ่มยกเลิกการเสนอแพ็กเกจเติมเงินแบบใช้งานข้อมูลได้ไม่จำกัดด้วยความเร็วคงที่ (Fixed-Speed Unlimited Data Plans) ซึ่งเริ่มมีการให้บริการในปี 61

อย่างไรก็ตามกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของอุตสาหกรรมในปี 62 น่าจะยังคงอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน เนื่องจากฟิทช์คาดว่ารายได้ที่เติบโตจะถูกลดทอนลงโดยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงข่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) คาดว่า รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่น่าจะเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 จากการที่บริษัทย้ายลูกค้าที่ใช้แพ็กเกจแบบใช้งานข้อมูลได้ไม่จำกัดด้วยความเร็วคงที่ ไปยังแพ็กเกจที่มีราคาสูงขึ้น

ฟิทช์คาดว่า AIS มีลูกค้าจำนวนมากที่ยังคงใช้แพ็กเกจดังกล่าวอยู่ ซึ่งจะทยอยหมดอายุลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 ในไตรมาส 2/62 รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS เติบโต 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และอยู่ในระดับที่สูงกว่าการเติบโตในไตรมาสที่ 1/62 ซึ่งอยู่ที่ 1.2%

ส่วนรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในปี 62 จะยังคงปรับตัวลดลง แต่ในอัตราช้าลงที่ 1-2% เมื่อเทียบกับการปรับตัวลดลง 5.8% ในปี 62 การแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้น การได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และการลงทุนก่อสร้างโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยปรับปรุงการให้บริการ และเพิ่มความครอบคลุมของโครงข่าย และช่วยให้การเติบโตของรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2/62 รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลง 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเทียบกับการลดลง 7.1% ในไตรมาส 1/62

ฟิทช์ คาดว่ากำไรของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยจะยังคงถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง EBITDA ของ DTAC น่าจะปรับตัวลดลง 10-11% มาอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ในปี 62 จาก 2.8 หมื่นล้านบาท ในปี 62 กำไรของ DTAC ยังได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่ บริษัท โทรคมนาคม สำหรับการเช่าใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม และ บริษัท ทีโอที สำหรับการให้คลื่นความถี่ 2.3 GHz ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 สัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายต่อรายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 25.9% จาก 18.4% ในปี 61 โดย

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ DTAC จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 34-35% ในปี 62 จาก 37.8% ในปี 61 (ครึ่งปีแรกของปี 2562 อยู่ที่ 35%)

AIS น่าจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้แสดงให้เห็นว่ามีความผันผวนที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ AIS ในปี 62 น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 61 ที่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้น อาจถูกลดทอนจากค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 ค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายของ AIS ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าการเติบโตของรายได้จากการให้บริการที่เติบ 6.1% ในขณะที่ EBITDA Margin ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 42.7% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 จาก 43.5% ในปี 61