“เมืองขยายตัว” หนุนธุรกิจ “ค้าปลีก-สินเชื่ออุปโภคบริโภค” กำไรโต

HoonSmart.com>> ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยผลวิจัยพบการขยายตัวของเมืองหนุนธุรกิจบริหารเพื่อการอุปโภคบริโภคเติบโต ช่วง 5 ปี “ธุรกิจค้าปลีก 8 บริษัท” กำไรสุทธิโตเฉลี่ย 18.2% ต่อปี ด้านธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค 10 บริษัท กวาดกำไรโตเฉลี่ย 27.5% ต่อปี

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การขยายตัวของเมืองสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างชัดเจน จำนวนประชากรในเขตเมืองของไทยเติบโตเฉลี่ย 4% ต่อปี ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป จากการพึ่งพาตนเองเป็นการเกื้อหนุนเชื่อมโยงกันของภาคการผลิตและการบริการต่างๆ ประกอบกับการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรทำให้คนมีรายได้เติบโตสม่ำเสมอซึ่งทั้งสองปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ในช่วงปี 2557-2561 ทั้งสองกลุ่มธุรกิจมีการขยายตัวในเชิงปริมาณ ซึ่งได้แก่ จำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการขยายสาขาในต่างจังหวัด เช่น ในธุรกิจค้าปลีกมีจำนวนสาขาในต่างจังหวัดเติบโตเฉลี่ย 8.3% ต่อปี ในขณะที่สาขาในกรุงเทพและปริมณฑลเติบโตเฉลี่ย 7.3% ต่อปี

นอกจากนี้ ทั้งสองกลุ่มธุรกิจจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เติบโตขึ้น โดยธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.9% และ 13.6% ต่อปี ตามลำดับ

การขยายตัวของเมืองสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก โดยรายได้และกำไรสุทธิของทั้ง 8 บริษัท ได้แก่ BEAUTY, COL, CPALL, GLOBAL, HMPRO, IT, MAKRO, ROBINS ในช่วงปี 2557-2561 เติบโตเฉลี่ย 8.8% และ 18.2% ต่อปี ตามลำดับ การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกไม่เพียงขยายตัวในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังเติบโตในเชิงคุณภาพโดยความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นโดยอัตราส่วนกำไรสุทธิ (net profit margin) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2557-2561 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปี 2561 จาก 3.6% ในปี 2557

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพในการทำกำไรต่อสาขา และต่อพนักงานเพิ่มขึ้นด้วย จากข้อมูลของ 8 บริษัท พบว่ากำไรสุทธิต่อสาขา และกำไรสุทธิต่อพนักงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2557-2561 โดยกำไรสุทธิต่อสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 2.66 ล้านบาทต่อสาขาในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.1% ต่อปี และกำไรสุทธิต่อพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 แสนบาทต่อคนในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.1% ต่อปี

ส่วนบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อการอุปโภคบริโภค 10 บริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ไม่รวมธนาคารพาณิชย์) ได้แก่ AEONTS, AMANAH, ASK, ECL, KTC, ML, MTC, SAWAD, THANI, TK พบว่า มีการขยายธุรกิจในด้านการจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดย ณ สิ้นปี 2561 มีจำนวนพนักงานรวม 2.6 หมื่นคน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.6% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561

นอกจากนี้รายได้และกำไรสุทธิของทั้ง 10 บริษัทในช่วงปี 2557-2561 เติบโตเฉลี่ย 12% และ 27.5% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากการเติบโตในเชิงปริมาณแล้ว ธุรกิจนี้ยังเติบโตในเชิงคุณภาพโดยความสามารถในการทำกำไร ซึ่งแสดงโดยอัตรากำไรสุทธิ (net profit margin) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2557-2561 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 25.7% ในปี 2561 จาก 15.3% ในปี 2557 นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการทำกำไรต่อพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนบาทต่อคนในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.3% ต่อปี

ด้านความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและบริการต่างๆ ที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตในเมืองจะเป็นกลไกที่สำคัญให้เมืองขยายตัวอย่างมีคุณภาพในทุกมิติและขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจโดยภาพรวม

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยน.ส. ปฐมาภรณ์ นิธิชัย, น.ส. รมย์นริน สุทธิจันทร์ และน.ส. อุษณี อี้โค้ว

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.set.or.th/th/setresearch/information/setnote.html