BTS วิ่งเข้าเป้ากำไร 5,100 ล้าน กินรวบธุรกิจ เพิ่มพันธมิตรแบ่งเค้กลงตัว

HoonSmart.com>>หุ้นกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ( BTS) พุ่งแรงติดจรวดในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความชัดเจนในโมเดลธุรกิจต่อจิ๊กซอว์กับพันธมิตรที่มีอยู่และเพิ่มเครือข่ายใหม่ๆ ขยายอาณาจักรธุรกิจ”ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่” ลงไปถึงการเป็นผู้นำธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ “คีรี กาญจนพาสน์” ประกาศแผน 5 ปี กำไรโตก้าวกระโดดจาก 1,400 ล้านบาท เพิ่มเป็น 5,100 ล้านบาทในปี 64/65 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 29% ให้เป็นความจริงเร็วที่สุด

หุ้น BTS ขึ้นมาโดดเด่น เกิดจากบริษัทมีข่าวดีสนับสนุน 2 เรื่อง คือ 1. การนำทีมพันธมิตร ภายใต้กิจการร่วมค้า BGSR เสนอราคาประมูลต่ำที่สุดโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย วงเงินรวมทั้งสิ้น 61,086 ล้านบาท ที่น่าติดตามตอนต่อไปคือการมีผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ชื่อ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) จะร่วมกันทำธุรกิจอะไรกันต่อไป หลังจาก BTS รุกลงทุนออกนอกเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆ  ที่มีผู้ร่วมทุนขาประจำได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น(STEC) และ บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH)

ข่าวดีที่ 2 คือบีทีเอสใช้เงินประมาณ 1,050 ล้านบาท ซื้อหุ้นบริษัทอาร์เอส (RS) จำนวน 70 ล้านหุ้น หรือประมาณ 7% ในราคาหุ้นละ 15 บาท เกิดคำถามว่าซื้อเพื่อ…

คำตอบมีชัดเจนว่าจะช่วยกันต่อยอดธุรกิจและใช้แพลตฟอร์มของบีทีเอส  เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจ ทิ้งห่างคู่แข่งจนตามไม่ทัน  บริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มอำนาจต่อรอง สร้างกำไรเติบโตในระยะยาว  เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

แต่ที่แน่ๆ เห็นผลระยะสั้น ราคาหุ้นบีทีเอสปรับตัวขึ้นแรง 13.30 บาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปมากกว่า 167,003 ล้านบาท ณ วันที่ 24 ส.ค. 2562 และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการวิจัย ตีมูลค่าแบรนด์องค์กร BTS สูงถึง 49,511 ล้านบาท

บีทีเอสไม่ได้ “แข็งแกร่ง” เพียงบริษัทเดียว บริษัทในกลุ่มยังสามารถวิ่งตามมาติดๆ โดยเฉพาะ VGI (บริษัท วีจีไอ) ราคาหุ้นสูงสุดที่ 1.10 บาท มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นเป็น 86,467 ล้านบาท และแบรนด์องค์กรมีมูลค่าถึง 44,949 ล้านบาท

ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมา  บีทีเอสโอนหุ้นในกลุ่มรวมไว้ที่บริษัท ยู ซิตี้ (U) เพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุนมานาน ขณะนี้สามารถหยุดเลือดได้แล้ว และยังสามารถพลิกมีกำไรสุทธิ 393 ล้านบาทในไตรมาส 2 (1 เม.ย.-30 มิ.ย.62) เพราะไม่ได้พึ่งพากำลังซื้ออสังหาฯในประเทศเพียงอย่างเดียว มีการขยายธุรกิจไปซื้อโรงแรมในยุโรปและเอเชียมาบริหาร สร้างรายได้ประจำเข้ามาเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลงทุนร่วมกับพันธมิตรรายสำคัญคือบริษัทแสนสิริ

กลุ่มบีทีเอสได้รับเงินสดเข้ามาทุกวัน โดยเฉพาะรายได้จากการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส  จะบริหารอย่างไรให้มีประโยชน์สูงสุด

มีการนำมาปล่อยกู้เพิ่มสภาพคล่องบริษัทภายในกลุ่ม สร้างดอกเบี้ยให้บริษัท และลดต้นทุนทางการเงินบริษัทลูก ยังนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปบริหารได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

“สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า บีทีเอสมีวงเงินประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ในการลงทุนในตราสารหนี้ หลักทรัพย์ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ผ่านมืออาชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ช่วยบริหาร และลงทุนเอง มีการซื้อเข้ามาเพิ่ม และมีการขายออกไป

“หลักการเลือกลงทุนในหุ้นแต่ละตัว ไม่ได้คิดเฉพาะผลตอบแทน จะต้องเป็นพันธมิตรด้วย  มองหาผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจร่วมกัน หรือ synergies กรณีเข้าไปถือหุ้นในบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) บริษัท คอมเซเว่น (COM7) ล่าสุดบริษัท อาร์เอส (RS)”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน กล่าวว่า บริษัทคอมเซเว่นเป็นเบอร์ 1 ร้านขายมือถือ มีสาขาจำนวนมาก ลูกค้ามีการซื้อออนไลน์มากขึ้น  การขายสินค้าต้องมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์  สามารถมาใช้บริการของบีทีเอสได้ เพราะมีการทำแพลตฟอร์ม ทางด้านออนไลน์ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส และมีระบบชำระเงินผ่านแรบบิท RS   เช่นเดียวกัน สามารถใช้ในการรุกตลาดทีวีช็อปปิ้ง ความร่วมมือที่เกิดขึ้นช่วยเพิ่มฐานลูกค้า ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำงานร่วมกันใกล้ชิดกันมาก มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน เชื่อว่าความร่วมมือจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ผลงานของกลุ่มบีทีเอสได้แสดงผลก้าวหน้าอย่างชัดเจน ในการฟูมฟักธุรกิจ เร่งการเติบโต และต่อยอดธุรกิจ จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในหลายอุตสาหกรรม สามารถสร้างผลตอบแทนจำนวนมากให้กับบริษัทแม่

กรณี VGI ผู้นำธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน ขยายธุรกิจบริการด้านดิจิทัล และธุรกิจจัดส่งพัสดุ ได้ใช้หุ้นเพิ่มทุนมูลค่า 885 ล้านบาท แลกหุ้นบริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) สัดส่วน 23% ประมาณกลางปี 2561 ปัจจุบันเป็นเบอร์ 1 ธุรกิจด้านการจัดส่งพัสดุด่วนทั่วไทย ทิ้งห่างคู่แข่งไกลโข รวมถึงการเข้าไปถือหุ้นบริษัท แพลน บี มีเดีย (PLANB) 18.85% กวาดตลาดโฆษณาในประเทศไทย ขณะที่บีทีเอสมีการตัดขายหุ้น VGI ส่วนหนึ่ง ได้รับเงินทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท นำไปใช้ขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสมากกว่า

ก่อนหน้านี้ “คีรี”คาดว่าตามแผน 5 ปีบริษัทจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น1.31 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 93% หรือ 1.23 แสนล้านบาทลงทุนในธุรกิจระบบขนส่งมวลชน จนถึงปี 64/65 จะมีระยะทางของธุรกิจขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเป็น 132 กิโลเมตร จาก ปี60/61 มีระยะทางรวม 38.1 กม.และเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร เป็น 2 ล้านเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 แสนเที่ยวคน/วัน หมายความรายได้รวมโตก้าวกระโดดจาก 8,200 ล้านบาท เป็น 31,800 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 31%

เชื่อว่ากลุ่มบีทีเอสมีโอกาสที่จะทำได้เร็วกว่าแผน 5 ปีที่วางไว้ เพราะผลงานของทุกบริษัทในกลุ่มโตรวดเร็วทันใจ แถมยังมีหุ้นในพอร์ตขายทำกำไร หรือขายเพื่อปรับพอร์ตธุรกิจ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 60/61 กำไรสุทธิกระโดดจากจำนวน 2,003 ล้านบาท เป็น 4,415 ล้านบาท จากการขายหุ้นบริษัท ยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ ไปให้บริษัท ยู ซิตี้ บีทีเอสรับรู้กำไรจากดีลนี้ 1,880 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีรวมกำไรของหุ้นในพอร์ตที่ราคาถีบตัวตามปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่ชื่อเสียงของบีทีเอสสามารถเรียกแขกให้นักลงทุนตามเข้าไปลงทุนด้วย ส่งผลให้ราคาหุ้นตัวนั้นปรับตัวขึ้น ตัวล่าสุด RS บีทีเอสซื้อในราคาหุ้นละ 15 บาท จำนวน 70 ล้านหุ้น เพียงไม่กี่วันราคาปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 16.70 บาท ส่วนต่างที่เกิดขึ้น 1.70 บาท สร้างกำไรร่วม 100 ล้านบาท หรือกรณี COM7 ได้กำไรมากกว่า 300 ล้านบาท

ดังนั้นหุ้น BTS จึงเหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว เพื่อรับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ระหว่างทางได้รับเงินปันผลและบริษัทแจกวอแรนต์ตอบแทนอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดเป็นรุ่นที่ 5 ด้วยปัจจัยพื้นฐานและเป้าหมายในการให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น นับว่า BTS เป็นหุ้นเติบโตสูงและปันผลดี