8 ไอพีโอจ่อเทรดไตรมาส 4/62 ACE ชูจุดเด่น ขาย 1,818 ล้านหุ้น

HoonSmart.com>>ไอพีไอแห่ขายหุ้นทันปี 2562   อย่างน้อย 3 บริษัทเข้าซื้อขายใน mai – 5 บริษัทเทรดใน SET แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ขายจุดเด่น เทคโนโลยีล้ำ กำไรพุ่ง อัตรากำไรสุทธิสูง ตั้งเป้า 1,000 เมกะวัตต์ ปี 2567 ระดมเงินพัฒนาโครงการเพิ่ม ไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมเป็นบจ. แบงก์เสนอเงื่อนไขดีขึ้น ต้นทุนทางการเงินลดฮวบเหลือต่ำกว่า 4%

ขณะนี้มีบริษัทอย่างน้อย 8 แห่ง เตรียมเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) ในไตรมาส 4/2562 แบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่จ่อเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ถึง 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เสนอขาย 8,000 ล้านหุ้น บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ขายจำนวน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.40% ของทุนเรียกชำระแล้ว บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) ขาย 150 ล้านหุ้น บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด (CPW) 160 ล้านหุ้น และ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ขาย 1,818 ล้านหุ้น

ส่วนหุ้นที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ได้แก่ บริษัท อินฟราเซท (INSET) เสนอขาย 146 ล้านหุ้น บริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS)ขาย 80 ล้านหุ้น บริษัท แอพพลิแคด (APP) 80 ล้านหุ้น

นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน  ผู้นำด้านพลังงานสะอาด เปิดเผยว่า ACE เป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ส่งขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( กฟภ.) รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังมีความสามารถ บริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น โรงไฟฟ้าขยะชุมชน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งแบบที่ติดตั้งบนหลังคาและติดตั้งบนพื้นดิน โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถ ในการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

“จุดแข็งของกลุ่ม ACE มีหลายด้าน เรามีประสบการณ์ด้านการเกษตรมากว่า 40 ปี มีการส่งออก 30 ปี มีการพัฒนาไม้โตเร็ว ผลิตกล้าไม้ มีการนำเปลือกไม้ที่เหนียวและยาวมาทดลองทำเชื้อเพลิงให้ความร้อนสูง เทคโนโลยีที่เราพัฒนาและดีซายน์เครื่องผลิตไฟฟ้า สามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความชื้นสูง และผลิตสูตรผสมวัตถุดิบได้เหมาะสม ทำให้สามารถเลือกใช้วัตถุดิบเหลือใช้ที่ความหลากหลาย ต้นทุนต่ำ อัตรากำไรสุทธิสูง เช่น การใช้เปลือกยูคาลิปตัสที่มีความชื้นสูง 60-65% เทียบกับแกลบที่มีความชื้นเพียง 30-40% นอกจากนี้พันธุ์กล้าต้นยูคาลิปตัสที่เราพัฒนา ก็มีความร้อนสูงกว่าถ่านหินลิกไนต์ “นางสาวจิรฐากล่าว

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ กล่าวว่า ปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 13 โครงการ กำลังการผลิตรวม 211.18 เมกะวัตต์ (MW) และยังมีโครงการที่มีความแน่นอนแล้วอีก 20 โครงการ กำลังการผลิต 210.19 MW รวมทั้งสิ้น 421.37 MW รองรับการเติบโตในอีก 2-3 ปีข้างหน้า พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2567 มั่นใจว่าจะทำได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นเมกะเทรนด์ของโลก แม้ว่าจะมีคู่แข่งจำนวนมากก็ตาม เชื่อว่าบริษัทได้รับงานใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง นอกจากจะใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายและรองรับความชื้นสูงได้แล้ว  โรงไฟฟ้าของบริษัทยังมีการหยุดซ่อมบำรุงเพียงปีละ 1 ครั้ง  และหยุดครั้งละไม่เกิน 10 วัน ขณะที่โรงไฟฟ้าแห่งอื่นอาจจะหยุดถึง 2 ครั้ง หรือ 4 ครั้งต่อปี ทำให้ ACE สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้จำนวนวันมากกว่า เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ส่วนการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่จะดำเนินการทุกๆ  4 ปี นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าที่เลือกตั้งกระจายตามแหล่งวัตถุดิบ มีสายส่งพร้อม และพื้นที่ไม่ติดผังเมือง สามารถขยายกำลังการผลิตได้ 1 เท่าตัว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า  ACE มีผลการดำเนินงานที่ดีมาก ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  (2559-2561) เติบโตเฉลี่ย 102%ต่อปี คือ มีกำไรสุทธิ  134 ล้านบาท 334 ล้านบาทและ 547 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนปีนี้มีกำไรสุทธิ 341 ล้านบาท โดยเฉพาะไตรมาส 2  มีกำไร 209 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ อยู่ที่ 16.7 %

นายธนะชัยกล่าวถึงวัตถุประสงค์การระดมทุนว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน ที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 8% ต่อปี หรือไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด 1,450 ล้านบาท หุ้นกู้มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.8% ทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า 4%  ส่งผลดีต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ บริษัทน่าจะได้เรทติ้งที่ลงทุนได้ ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังเสนอเงื่อนไขสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้นด้วย หากบริษัทขายหุ้นไอพีเรียบร้อยแล้ว

“ACE มีจุดเด่น เป็นผู้นำโรงไฟฟ้าสะอาด ผลิตกระแสไฟฟ้าได้นานกว่า เพิ่มมาร์จิ้นได้ดี มีกำไรและรายได้เติบโตมั่นคง สัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน(D/E) เพียง 1.2 เท่า ธุรกิจของเราเติบโตตามเมกะเทรนด์โลก”นายธนะชัยกล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 13 โครงการ กำลังการผลิตรวม 211.18 MW เสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กฟภ. และกฟผ. รวมทั้งสิ้น 166.50 เมกะวัตต์ ขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าอุตสาหกรรม 6.81 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นดังนี้

โรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 9 โครงการ นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้เป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 89.10 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟภ.

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (SPP-Cogeneration) 1 โครงการ ซึ่งใช้เทคโนโลยีโคเจนเนอเรชั่น ชนิดกังหันก๊าซมาผลิตกระแสไฟฟ้า กำลังการผลิตติดตั้ง 114.35 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้แก่ กฟผ.

โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 1 โครงการ รวบรวมขยะชุมชนจากเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียงพื้นที่โรงไฟฟ้า มากำจัด กำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ แบ่งจำหน่ายให้ กฟภ. จำนวน 4.5 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือใช้เองภายในโรงไฟฟ้า และจำหน่ายให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรม รวมทั้งมีและโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งบนหลังคา จำนวน 2 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.73 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าเอกชนที่ทำสัญญาในระยะยาว

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ACE เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย จะเป็นทางเลือกที่ดีแก่ผู้ลงทุนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงจากการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทำให้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีผลตอบแทนที่มั่นคงและแน่นอน จะได้รับความน่าสนใจ

นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ACE มีความโดดเด่นที่น่าสนใจต่อนักลงทุน รายได้และกระแสเงินสดมีเสถียรภาพสูง กำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน แนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่กำลังขยายตัว ตามนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของภาคเอกชน โรงไฟฟ้าของกลุ่ม ACE เป็นสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแบบ Feed-in Tariff (FiT) จึงมีความแน่นอนและมั่นคงในเรื่องราคารับซื้อกระแสไฟฟ้าตลอดระยะเวลาตามสัญญาและเป็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด จึงมีความเสี่ยงต่ำจากปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของราคาและปริมาณ

ก.ล.ต.นับหนึ่งแบบไฟลิ่งของ ACE แล้ว โดยบริษัจะเสนอขายหุ้นจำนวน 1,818 ล้านหุ้น หรือ 16.56% ของทุนเรียกชำระแล้ว มูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 50 สตางค์  โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ มีกลุ่มทรงเมตตาถือหุ้น จำนวน 7,955.52  ล้านหุ้น คิดเป็น 86.9%  หลังขายไอพีโอสัดส่วนลดลงเหลือ 72.5%  ผู้ถือหุ้นอันดับสองคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือจำนวน 379.10 ล้านหุ้น สัดส่วน 4.1% ลดลงเหลือ 3.4% และบริษัทบรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป ถือ 201 ล้านหุ้น 2.2% ลดเหลือ 1.8%