ตีค่า AWC สูง 2 แสนล้านบาท หุ้นฮอต! โตมั่นคง เหมาะถือยาว

HoonSmart.com>>แอสเสท เวิรด์ คอร์ป เตรียมระดมทุนก้อนมหึมา 4.4-5.2 หมื่นล้านบาท นักลงทุนให้ความสนใจสูง  ชื่อเสียง “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” ปลุกความเชื่อมั่น บริหารโรงแรม-อสังหาริมทรัพย์ค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ มีสิทธิเข้าถึงทรัพย์สินของกลุ่มบริษัททีซีซีในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว บล.กสิกรไทย ประเมินมูลค่า 1.92-2.29 แสนล้านบาท  คาดลงทุนโรงแรมเพิ่มขึ้น จนจำนวนห้องพักพุ่งเท่าตัว จาก 4,421 ห้อง เพิ่มเป็น 8,506 ห้องในปี 2568 

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เจ้าของธุรกิจโรงแรมระดับกลางและหรูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อประกอบการกิจการการค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ เตรียมเปิดแถลงข่าววันที่ 11 ก.ย. 2562 เกี่ยวกับแผนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น แบ่งเป็นไอพีโอ 6,957 ล้านหุ้นและอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน 1,043 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท กำหนดช่วงราคาเบื้องต้นที่หุ้นละ 5.50-6.50 บาท คาดว่าจะระดมทุนสูงถึง 44,000 -52,000 ล้านบาท รวมมูลค่ากิจการ 1.76 -2.08 แสนล้านบาท หลังไอพีโอบริษัทมีหุ้นทั้งหมด 32,000 ล้านหุ้น

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนกล่าวว่า ขณะนี้ AWC ยังไม่ได้สำรวจความต้องการซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบันอย่างเป็นทางการ แต่จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า เป็นหุ้นตัวหนึ่งที่ได้รับความสนใจสูง เนื่องจากชื่อเสียงของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ” สิริวัฒนภักดี “ได้รับความน่าเชื่อถือมาก รวมถึงทรัพย์สินที่ลงทุนมีคุณภาพสูง  ทั้งโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ ทำให้บริษัทมีรายได้ กำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอในอนาคต หุ้นจึงเหมาะสำหรับการถือลงทุนในระยะยาว เหมือนหุ้นตัวอื่นๆของกลุ่มนี้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย คำนวณมูลค่ายุติธรรมของ AWC ในปี 2563 ด้วยวิธีรวมส่วนธุรกิจ มูลค่า 1.92-2.29 แสนล้านบาท โดยวิธีคิดลดเงินสด(DCF) ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทั้ง 3 กลุ่ม อิง WACC ที่ 7.1% ประเมินอัตราผลตอบแทน(IRR) ภายในโครงการที่ดำเนินการอยู่ที่ 12.2 % ขณะที่อิง IRR ประมาณ 10-13% สำหรับโครงการที่กำลังพัฒนา และภายใต้สิทธิที่จะซื้อหรือลงทุนเพิ่มในอนาคต

ปัจจุบันบริษัทมีโรงแรม 15 แห่ง เปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง กำลังพัฒนา 5 แห่ง อสังหาริมทรัพย์ เพื่อประกอบการกิจการการค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ 11 แห่ง เป็นเจ้าของ 10 แห่ง และภายใต้การบริหารจัดการ 1 แห่ง อาคารสำนักงาน 4 แห่ง รวมเรียกว่าทรัพย์สิน กลุ่ม 1 และ 2

นอกจากนี้ ได้ลงนามในสัญญา  เพื่อซื้อโรงแรมอีก 12 แห่ง เปิดดำเนินการแล้ว 4 แห่งและกำลังพัฒนา 8 แห่ง จัดเป็นทรัพย์สินกลุ่ม 3 มูลค่าประเมิน 2.54 หมื่นล้านบาท จากกลุ่มทีซีซี ซึ่งจะต้องซื้อภายใน 6 เดือนหลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าทรัพย์สินกลุ่ม 3 และโครงการเกตเวย์ เอกมัย จะช่วยสร้างกระแสเงินสดและกำไรให้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้บริษัทยังได้รับสิทธิในการเข้าถึงทรัพย์สินของกลุ่มบริษัททีซีซีในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งถูกจัดว่าเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ที่สุดของประเทศไทย จะช่วยให้สามารถเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างต่ำ

สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 ธุรกิจโรงแรมและบริการมีสัดส่วน 62% และ 46% ของรายได้ คาดว่าบริษทจะมีกำไรเติบโตที่แข็งแก่รงในปี 2562-2564 ที่ 109% ,151% และ 24% ด้วยแรงหนุนจากดอกเบี้ยจ่ายลดลง และการเข้าซื้อทรัพย์สินกลุ่ม 3

บล.กสิกรไทย คาดว่า AWC เป็นผู้พัฒนาโรงแรมระดับกลางถึงหรูรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะมีห้องพักประมาณ 8,506 ห้อง ในปี 2568 จากโรงแรม 27 แห่ง ปัจจุบันที่เปิดดำเนินการอยู่ 4,421 ห้อง โรงแรม 10 แห่ง ทุกโรงแรมบริหารจัดการโดยผู้ประกอบกิจการบริหารจัดการโรงแรมระดับโลก เช่น Marriott และ IHG สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อห้องสูงกว่าค่าเฉลี่ย และพอร์ตยังมีการผสมผสานลงตัว ด้วยทรัพย์สิน ฟรีโฮล 90% ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งดีกว่าหุ้นโรงแรมขนาดใหญ่อื่นๆในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง CENTELและ MINT สร้างมูลค่าระยะยาวที่มั่นคง

บล.เคทีบี ประเมินมูลค่าบริษัทที่ 1.94-2.11 แสนล้านบาท โดยวิธี DCF แบ่งเป็นกรณีลงทุนปกติ ได้มูลค่า 1.94 แสนล้านบาท และ กรณีลงทุนสูง ที่จะใช้สิทธิในการเข้าลงทุนในที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ขากกลุ่ม TCC ได้มูลค่า 2.11 แสนล้านบาท

บล.ทิสโก้ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมที่มูลค่าตลาด 1.98-2.07 แสนล้านบาท โดยวิธี DCF เนื่องจากรายได้ของบริษัท เป็นรายได้ประจำ มีสมมติฐาน WACC ที่ 6.7% ความเสี่ยงที่สำคัญ คือความล่าช้าในโครงการใหม่ เงินลงทุนที่อาจสูงกว่าที่คาด การพึ่งพาผู้บริหารโรงแรมภายนอก ความขัดแย้งกับผู้ถือห้นอื่น รวมถึงการแข่งขันจากกลุ่มบิษัท ทีซีซี

ด้านโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังจากไอพีโอ บริษัท ทีซีซี กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ถือ 36.8% คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือ 19.1% และคุณหญิง วรรณา สิริวัฒนภักดี ถือ 19.1% โดยรวมจะยังคงถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 75%