8 บริษัทไทยผงาดขึ้นเบอร์ 1โลก DJSI เลือก TOP-PTTEP-PTTGC-CPALL เข้าปี 62

HoonSmart.com>> บริษัทไทยทุบสถิติใหม่ ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนโลกเพิ่มขึ้นในปี 2562  DJSI ได้ให้คะแนนสูงสุด 8 บริษัท ก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลก ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม จากปีก่อนมี 6 บริษัท ส่วนบริษัทที่ติดกลุ่มดัชนีโลกมี 12 บริษัท จากเดิม 9 บริษัท IVL,ADVANC,AOTเพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาจาก Emerging Market  บริษัทติดดัชนีตลาดเกิดใหม่ มีจำนวนเท่ากับปีก่อน 20 บริษัท   ปตท.เป็นสมาชิกต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ไทยออยล์ ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 ผงาดขึ้นผู้นำอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและก๊าซ 

วันที่ 13 ก.ย. ของทุกปีเว็บไซต์ ROBECOSAM ผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ( Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) จะเปิดเผยผลการคัดเลือกบริษัทเข้าเป็นสมาชิก DJSI ประจำปี โดยในปี 2562 บริษัทไทยที่เป็นบริษัทสมาชิก DJSI และได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Leader) เพิ่มขึ้นเป็น 8 อุตสาหกรรม จากปีก่อนที่มีจำนวน 6 อุตสาหกรรม

บริษัทไทยที่ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมของโลก ได้แก่ 1. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) เป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 2. บริษัทบ้านปู (BANPU) เป็นผู้นำอุตสาหกรรมถ่านหินและเชื้อเพลิงพลังงาน 3. บริษัทไทยออยล์ (TOP) อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและก๊าซและการตลาด 4. บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซขั้นต้น 5.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) อุตสาหกรรมสื่อสารและโทรคมนาคม 6. บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) อุตสาหกรรมอาหาร 7. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ผู้นำอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และ 8 บริษัท ซีพีออลล์(CPALL) เป็นผู้นำกลุ่มอาหารและสินค้าซื้อประจำ

” ในปี 2562 มีบริษัทไทยที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมของโลก 4 บริษัทได้แก่ TOP,PTTEP,PTTGC และ CPALL ขณะที่บริษัทปตท.(PTT) และบริษัทไออาร์พีซี (IRPC) ไม่ได้เข้ามาในปีนี้ ”

ส่วนการเป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีโลก DJSI ในปี 2562 บริษัทไทยได้รับเลือกเข้ามาจำนวน 12 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 9 บริษัท โดย 3 บริษัทที่เพิ่งเข้ามาใหม่คือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL),บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ติดอันดับดัชนียั่งยืนโลกมี 2 แห่งคือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) นอกจากนี้เป็นกลุ่มปตท.3 บริษัท ได้แก่ PTT,PTTEP และ PTTGC

สำหรับสมาชิก DJSI ของ Emerging Markets  (ตลาดเกิดใหม่)  ในปี 2562 มีจำนวนเท่ากับปีก่อน 20 บริษัท

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ในกลุ่มดัชนีโลก และดัชนีตลาดเกิดใหม่ เป็นความภาคภูมิใจสู่องค์กรและประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก สะท้อนถึงการบริหารองค์กรที่สามารถเทียบเคียงกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเดียวกันทั่วโลก

บริษัทปตท.มีการวางแผนและตั้งเป้าหมายกลยุทธ์ระยะยาว ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นหลัก 3P คือ การทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม (People) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงแก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ก้าวข้ามความท้าทายใต้สภาวการณ์ที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยี รูปแบบการใช้พลังงาน วิถีชีวิตของสังคม และความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนเพื่อนำพาองค์กรสู่ความภาคภูมิใจและเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศ

“นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ในปี 2562 ปตท. ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ประจำปี 2562 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 นอกจากนี้บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ PTTEP,TOP,IRPC และ PTTGC ยังเข้าเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องครบทุกบริษัท โดยบริษัท 3 แห่ง คือ  TOP,PTTEP,PTTGC ได้รับคะแนนสูงสุดในอุตสาหกรรม “นายชาญศิลป์กล่าว

ทางด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า ไทยออยล์ได้รับเลือกเข้ามาใน DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และยังได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันและก๊าซและการตลาดในปี 2562 ด้วย เป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานของบริษัท เป็นรางวัลแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของพนักงานทุกคน นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของไทยออยล์ต่อประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ทุกกลุ่มผ่านธรรมาภิบาลและการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในปีที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของไทยออยล์ ทั้งการขยายโรงกลั่นภายใต้ ‘โครงการพลังงานสะอาด’ สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและภูมิภาค ตลอดจนการปรับวิสัยทัศน์สู่ปี 2030 ที่ว่า ‘Empower Human Life through Sustainable Energy and Chemicals’ ที่สะท้อนให้เห็นการมุ่งมั่นสู่ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืน

” TOP ให้ความสำคัญกับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตลอดสายโซ่อุปทาน ส่งผลให้มีผลงานด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้นในปีที่ผ่านมา ผ่านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานกว่า 25 โครงการ สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงกว่า 4 หมื่นตันต่อปี การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา การจัดการนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 7 แสนตัน “นายวิรัตน์กล่าว

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า CPF เป็น 1 ในสมาชิก DJSI ของ Emerging Markets เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน เป็นการยกระดับความเชื่อมั่นและการยอมรับของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนานวัตกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

“CPF ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก สามารถลดการใช้พลาสติกระหว่างปี 2549 – 2561 ได้ทั้งสิ้น 27,000 ตัน ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และอาหาร เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว 25% ของการใช้พลังงานทั้งหมด การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 25% ในปี 2568 จากปีฐาน 2558 ตลอดจนทำการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในเชิงรุกอย่างยั่งยืน” นายประสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ CPF ยังเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Global Compact Network ประเทศไทย เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืนและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมดุล ที่ช่วยผลักดันเป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก FTSE4Good โดย FTSE Russell ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ DJSI เป็นดัชนีจัดอันดับผลการปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก   กำหนดเกณฑ์ว่า บริษัทที่จะเข้ารับการประเมินได้จะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียน และมี Free Float Market Capitalization ใน Dow Jones Total Stock Market Index สูงสุด 2,500 บริษัทแรก และกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Markets สูงสุด 800 บริษัทแรก ตลอดจนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 3,517 บริษัททั่วโลก

อ่านประกอบ

ปตท. เข้า DJSI ต่อเนื่องปีที่ 8 “TOP-PTTEP-PTTGC” คว้าตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรม

CPF ติด DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ยกระดับความเชื่อมั่นหนุนธุรกิจโตยั่งยืน

TOP ติด DJSI ปีที่ 7 เบอร์ 1 อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน-ก๊าซโลก