ลางหายนะบริษัท บิ๊กบจ.ปั่นหุ้น-อินไซด์

ในปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.) ได้ประกาศลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวม 6 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ในเรื่องการปั่นหุ้น และอินไซเดอร์เทรดดิ้ง  เกิดจากผู้บริหารเบอร์ 1 หรือเจ้าของ เอารัดเอาเปรียบนักลงทุนเอง แต่น่าประหลาดใจที่ราคาหุ้นของหุ้นเหล่านี้กลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ในเรื่องจริยธรรม
ธรรมาภิบาลในตลาดทุน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ 6 บริษัทดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ (BA), บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ (AJD) ปัจจุบัน คือ บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJA) ,บริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น (ADAM) ปัจจุบันคือ บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป (A5), บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL ,บริษัท เธียรสุรัตน์ (TSR) และบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) เป็นเพียงนักลงทุนตกใจทิ้งหุ้นในวันแรก หลังปรากฎข่าวจากก.ล.ต. เท่านั้น เห็นได้จากราคาร่วงลงแรง แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน สถานการณ์การซื้อขายหุ้นก็กลับสู่ภาวะปกติ เหมือนไม่เคยมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด ยอมรับกันง่ายๆ ว่าหากผู้บริหารเหล่านั้นยอมจ่ายค่าปรับ ยอมลาออกจากทุกตำแหน่งแล้วถือว่าเรื่องทุกอย่างยุติลง

แต่ยังไม่จบ กรณีบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ ก.ล.ต.ประกาศเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า ได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง นายพิชญ์ โพธารามิก และ นายเกริกไกร ไตรบัญญัติกุล กรณีอินไซด์ฯหุ้น JTS ซึ่งนายพิชญ์ ไม่ได้เป็นผู้บริหาร JTS โดยตรง มีการเกี่ยวโยงผ่านตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นถึง 56% ในบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ในฐานะถือหุ้นใหญ่ JTS

ต้องจับตาเป็นพิเศษกรณี JTS ว่านักลงทุนสถาบันจะดำเนินการกับหุ้น JAS อย่างไรต่อไป เพราะเป็นกรณีแรก ที่เกิดขึ้นภายหลังจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกับนักลงทุนสถาบัน 32 แห่ง ประกาศเจตนารมณ์ร่วมลงนามแนวปฏิบัติการระงับลงทุน คือไม่ลงทุนเพิ่ม ในบริษัทที่มีความผิดร้ายแรงตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ

“วิทัย รัตนากร” เลขาธิการกบข. ให้สัมภาษณ์ว่า ได้นัด JAS เพื่อพูดคุยตรวจสอบว่ามีปัญหาระบบควบคุมภายในที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้อีกหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจระงับการลงทุน เพราะมีเจตนารมณ์ไม่สนับสนุนบริษัทไม่มีธรรมภิบาล ส่วนเกณฑ์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละแห่งมีความเข้มงวดแตกต่างกัน

ต้องยอมรับว่า JAS เป็นหนึ่งในหุ้นที่นักลงทุนสถาบันมีไว้ในพอร์ต และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่ผ่านมา

หากนักลงทุนสถาบันตัดสินใจอย่างไรกับ JAS ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลโดยทั่วกันด้วย เพื่อที่จะปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

คาดว่ายังมีคดีผู้บริหารปั่นหุ้น หรืออินไซด์ฯ ตามมาอีกหลายบริษัท เพราะสิ่งที่ลงโทษในวันนี้ เป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในปี 2558-2559

ก.ล.ต.ยังมีงานอีกมากที่ยังตรวจสอบข้อมูลหลักฐานไม่เสร็จ และพยายามที่จะเอาผิดมากกว่าการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง ปรับเป็นเงิน และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น เพื่อทำให้ผู้บริหารเกรงกลัวต่อการกระทำความผิดมากขึ้น

เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันต่อต้านอย่างจริงจัง  ไม่สนับสนุนบริษัทที่มีผู้บริหารทำความผิดร้ายแรง จะช่วยยกระดับตลาดทุนไทย รวมถึงภาคธุรกิจของไทยให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้