ความจริงความคิด : ถึงคิวประกันชีวิตต้องเปิดเผยข้อมูล

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ถ้าถามว่าคนส่วนใหญ่กลัวอะไรมากที่สุด คำตอบก็คงหนีไม่พ้น ความตาย กับ ภาษี คนเราถึงไม่ค่อยชอบพูดถึงความตาย ไม่ชอบทำประกัน ไม่ชอบทำพินัยกรรม เพราะเชื่อว่าจะแช่งให้ตนเองต้องตาย และไม่ชอบคุยกับสรรพากร เพราะกลัวต้องเสียภาษี เห็นสรรพากรเหมือนอย่างเจอปอเต็กตึ๊ง

แต่ที่น่าเศร้าก็คือ “ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากความตาย และภาษี” เบนจามิน แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกที่นั่งใต้ต้นไม้แล้วลูกแอ๊ปเปิ้ลตกใส่คนนั้นแหละ เคยกล่าวเอาไว้

เพราะเหตุนี้ เมื่อปีที่แล้ว ก็เลยมีเรื่องให้ตื่นเต้นกันยกใหญ่ เมื่อสรรพากรออกกฎหมายมาว่า ใครต้องการลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท ไม่ต้องเอาใบเสร็จส่งให้สรรพากรอีกแล้ว เพราะสรรพากรจะเอาข้อมูลจากบริษัทประกันโดยตรงเลย โดยใครที่ต้องการลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพก็ต้องยินยอมให้บริษัทประกันเปิดเผยข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพของเราให้สรรพากร

ถัดจากเบี้ยประกันสุขภาพ ก็มาเป็นเงินบริจาคที่ตอนแรกสรรพากรบอกเหมือนกันว่า ไม่ต้องเอาใบอนุโมทนาหรือใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีอีกล่ะ แค่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e donation (ระบบการบริจาคออนไลน์ที่ทางหน่วยงานรับบริจาคต้องบันทึกข้อมูลส่งให้กรมสรรพากร เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ และคนที่บริจาคก็ไม่ต้องเก็บหลักฐานอีกต่อไป) เท่านั้นถึงลดหย่อนภาษีได้

แต่ยังโชคดีหน่อยที่ตอนหลังเหลือแค่ใครที่ต้องการได้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าอย่างเช่น บริจาคให้โรงเรียนในระบบ โรงพยาบาลของรัฐ หน่วยงานกีฬาของรัฐ ต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Donation เท่านั้น ส่วนการบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้เท่าเดียวคือเท่าเงินบริจาคอย่างเช่น บริจาคให้วัด มูลนิธิ ยังใช้ใบอนุโมทนา หรือ ใบเสร็จได้เหมือนเดิม แต่คิดว่าไม่นานหรอก ถ้าระบบพร้อม สรรพากรคงให้บริจาคผ่านระบบ e donation เหมือนกัน

ถัดมาปีนี้ สรรพากรก็เริ่มกับบัญชีเงินฝากเราต่อ ถ้าบัญชีเงินฝากเรามียอดรับโอน ตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป หรือ มียอดรับโอน ตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีและยอดรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป ธนาคารก็ต้องส่งข้อมูลเราให้สรรพากร ข้อมูลที่ส่งก็มี ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน จำนวนครั้ง และจำนวนเงิน
แถมในปีนี้อีกเช่นกัน ที่เราต้องยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยออมทรัพย์ของเราให้สรรพากร

ถ้าเราไม่อยากให้ธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่ายเรา 15% แต่ไม่ใช่ว่าเราจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีอะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าสรรพากรเห็นว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์เราจากทุกธนาคารรวมกันเกิน 20,000 บาท สรรพากรก็จะแจ้งให้ทุกธนาคารที่เราฝากออมทรัพย์อยู่หักภาษี ณ ที่จ่ายเราเลย 15% แต่ถ้าเราไม่ยอมให้ธนาคารแจ้งข้อมูลดอกเบี้ยออมทรัพย์ สรรพากรก็ให้ธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่ายเราเลยทันที 15% ไม่ต้องสนใจว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์เราเกิน 20,000 บาทหรือไม่

มาล่าสุด สรรพากรเอาจะให้บริษัทประกันชีวิตส่งข้อมูลผู้เอาประกันสำหรับกรมธรรม์ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้พิจารณาลดหย่อนภาษีเหมือนกับกรณีประกันสุขภาพที่ทำไปในปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่าจะให้เริ่มส่งข้อมูลในปี 2564 แปลว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ใครจะลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต (ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) หรือเบี้ยประกันบำนาญ (ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) ก็ไม่ต้องใช้ใบเสร็จอีกแล้ว แค่ยอมให้บริษัทประกันส่งข้อมูลให้สรรพากร ก็ลดหย่อนภาษีได้

เรื่องยอมให้บริษัทประกันชีวิตเปิดเผยข้อมูลให้สรรพากรในช่วงแรกอาจกระทบการซื้อประกันชีวิตของลูกค้าบ้าง เพราะหลายคนซื้อประกันเพราะเห็นประโยชน์ของประกันจริงๆ ไม่ได้สนใจเรื่องลดหย่อนภาษีเลย บางคนจ่ายเบี้ยเป็นล้านๆต่อปี แต่ปรากฏว่า ต้องเปิดเผยข้อมูลกรมธรรม์ที่มีอายุเกิน 10 ปีทั้งหมดให้สรรพากร ซึ่งผมมองไม่น่าจะถูกต้องเท่าไหร่ จริงๆควรจะต้องเปิดเผยเฉพาะกรมธรรม์ที่ลดหย่อนภาษีเท่านั้นพอ

อีกเรื่องที่หลายคนก็เริ่มกังวลกัน ก็คือ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 172) ซึ่งเป็นประกาศเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตและประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 194) ซึ่งเป็นประกาศเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญจะมีเงื่อนไขข้อหนึ่งที่เหมือนกันระบุว่ากรณีผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้วและต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ผู้มีเงินได้จะหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วพร้อมเงินเพิ่มในอัตรา 1.5%/เดือนของภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน)นับจากหลังพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบของปีภาษีที่ลดหย่อนนั้นๆ

แปลว่า ต่อให้ซื้อประกันถูกแบบสำหรับการลดหย่อนภาษี แต่ถ้าเราหยุดส่งหรือขอคืนมูลค่าเงินสดที่มีผลทำให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ไม่ถึง 10 ปี เราก็ต้องคืนภาษีที่ได้ลดหย่อนไป พร้อมจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ให้สรรพากร และที่ผ่านมาก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ผิดเงื่อนไขข้อนี้ของสรรพากรจากหลายสาเหตุ ดังนี้

1.ส่วนใหญ่คือ ไม่รู้ (ขนาดตัวแทนประกันชีวิตบางคนก็ไม่รู้กฎหมายข้อนี้)
2.บางคนรู้แต่เจตนา เพราะคิดว่าสรรพากรไม่รู้ กรณีนี้เท่าที่เคยคุยมามีน้อย ไม่เยอะ
3.จำเป็นต้องใช้เงิน หรือ ไม่มีความสามารถจะชำระเบี้ยต่อได้ เพราะประกันชีวิตเป็นการออมเงินระยะยาว จึงเปรียบเสมือนภาระผูกพันระยะยาว แต่ความมั่นคงของรายได้ของเราไม่ได้ยาวขนาดนั้น ยิ่งในภาวะปัจจุบัน โอกาสถูกเลิกจ้างมีสูงมาก อย่างมากสุดก็สามารถการันตีความมั่นคงของรายได้ได้แค่ 6 เดือน คือ กรณีถูกไล่ออก เรายังได้เงินชดเชยการว่างงานจากประกันสังคม 6 เดือนเท่านั้น

ดังนั้น โอกาสที่จะขัดสนเงินมีมาก ถ้าเลือกระหว่างหาอาหารเข้าท้องกับจ่ายเบี้ยประกันคงเลือกหาอาหารเข้าท้องก่อน หรืออย่างบางคนเกิดปัญหาเจ็บป่วย เจออุบัติเหตุ พิการ หรือทุพพลภาพ แม้จะซื้อประกันชีวิตไว้ ถ้าไม่ได้ซื้อสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองการชำระเบี้ยไว้ ก็ยังต้องจ่ายเบี้ยประกันชีวิตอยู่ดี

ก็หวังว่าในช่วงที่เริ่มประกาศให้บริษัทประกันชีวิตส่งข้อมูล สรรพากรน่าจะผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หรือ การเสียเงินเพิ่ม หรืออย่างน้อยก็ผ่อนผันให้กับสาเหตุที่ 1 และ 3 เหมือนอย่างที่นิรโทษกรรมภาษีให้พวก SME โดยเฉพาะสาเหตุที่ 3 อาจใช้แบบเดียวกับ RMF ที่ระบุถ้าผู้ลงทุนทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ไม่ถือว่าผิดเงื่อนไข RMF

แต่ปัญหาก็คือสรรพากรจะรู้อย่างไรว่าคนไหนสาเหตุไหนที่ไม่จ่ายเบี้ยจนครบ ถ้าเป็นกรณีเกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย คงใช้เอกสารทางการแพทย์ยืนยันได้ แต่ถ้าเป็นกรณีด้านสุขภาพการเงิน ก็ใช้ข้อมูลที่สรรพากรมีนั่นแหละ เหมือนอย่างที่ภาครัฐใช้กันกรณีขึ้นทะเบียนคนจน ไม่รู้จะได้หรือเปล่า