ทริสฯ เตือนภัย บจ.ก่อหนี้สูงมาก ลดเกรด 5 บริษัท ชี้แนวโน้มลบอีกเพียบ

HoonSmart.com>>”ทริสเรทติ้ง” ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อย่างน้อย 5 แห่ง และเปลี่ยนแนวโน้มความน่าเชื่อถือจาก “คงที่” เป็น “ลบ” อีกหลายแห่งในปี 2562 เหตุผลใหญ่คือภาระหนี้ของบริษัทสูงขึ้นมาก จากการขยายการลงทุนขนาดใหญ่  ดังนั้นนักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นเหล่านี้

บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT ถูกลดเกรดเป็น A- และ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ (UV) เหลือ BBB ขณะที่ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) ได้รับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้น เป็น A- ผลพวงจากการปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ “กลุ่มเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี”  

ทริสประเมินว่า FPT จะมีความเสี่ยงทางการเงินและความเสี่ยงทางธุรกิจเพิ่มขึ้น หลังจากตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นและถือหุ้น GOLD ทั้งหมด 94.5% คาดภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6-8 เท่า ในช่วงรอบปีบัญชี 2562-2565 จาก 4-5 เท่าก่อนซื้อกิจการ รวมถึงธุรกิจอสังหาฯที่ได้มาจาก GOLD มีลักษณะเป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันสูง อาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสถานะทางธุรกิจของบริษัทได้

FPT ไม่น่าห่วงมากนัก เพราะมีแผนลดหนี้ชัดเจน ทั้งการเพิ่มทุนผ่านการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) และการขายสินทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่สินทรัพย์หลัก ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หนี้ที่เพิ่มขึ้นแลกกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินงานที่กว้างขึ้นและรายได้ที่ใหญ่ยิ่งขึ้น ทริสคาดว่ารายได้รวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 และจะถึง 2.1-2.3 หมื่นล้านบาทในปี 2563-2565 EBITDA อยู่ที่ระดับ 6,000 ล้านบาทในปี 2562″

ส่วน UV ขนาดธุรกิจเล็กลงและความหลากหลายของธุรกิจที่น้อยลง หลังจากขายหุ้น GOLD ทั้งหมดให้ FPT ทำให้รายได้หายไป 75% และกำไรวูบลง 81% แม้ว่าหนี้จะหายไปด้วย แต่ทริสคาดว่า ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นในปีงบการเงิน 2563 เนื่องจากบริษัทมีแผนเปิดโครงการคอนโดมิเนียม  มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาทและ 1.0-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงงบปี 2564-2565 และยังมีแผนลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ต้องจับตาว่าเงินที่ได้มาจากการขายหุ้นแผ่นดินทองฯ จำนวน 7,700 ล้านบาท UV ที่ทำธุรกิจโฮลดิ้งจะนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนอะไรบ้าง เพื่อสร้างรายได้และกำไรมาทดแทนแผ่นดินทองฯ

ทางด้าน GOLD ในอ้อมอกของเฟรเซอร์สดูดีขึ้น แบรนด์สินค้าได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น และการเติบโตของรายได้ในธุรกิจบ้านจัดสรร และรายได้ที่แน่นอนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ความสามารถในการกำไรที่ดีขึ้น

ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทริสฯลดเครดิตของบจ. กรณีบริษัท ถิรไทย (TRT) อันดับความน่าเชื่อถือเหลือ BB+ บริษัทมีผลงานยาวนานมากกว่า 3 ทศวรรษ และเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศไทย ที่สามารถผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายซึ่งมีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย แต่จุดแข็งถูกลดทอนลงไปอย่างมีนัยสำคัญ จากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ บริษัทไม่มีความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่าย และมีกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่ยังคงอ่อนแอ

“TRT ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 คาดว่าปี 2562 ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้  ผลงานครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่ทริสคาดการณ์ มียอดขาย 1,000 ล้านบาท คิดเป็น 35% ของคาดการณ์ไว้ทั้งปี  อัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่  5.2% น้อยกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 7% ขณะที่มีหนี้สินรวม 1,340 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2562 กึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น บริษัทมีเงินสดประมาณ 170 ล้านบาท มีหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดภายในสิ้นปี 2563 จำนวน 400 ล้านบาท ทริสคาดว่าบริษัทจำเป็นจะต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้คงเหลือทั้งหมด ปัจจุบันได้รับวงเงินกู้ที่เพียงพอจากธนาคารแล้ว”

เช่นเดียวกับการลดเครดิตของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (KSL) เป็น A- สะท้อนถึงผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยฯ ลดลงมาอยู่ที่ 2,890 ล้านบาทในปีบัญชี 2561 ต่ำกว่าประมาณการของทริสที่ 3,400 ล้านบาท แต่คาดว่าวัฏจักรขาลงในอุตสาหกรรมน้ำตาลจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ปีบัญชี 2563 เป็นต้นไป ปัจจุบันราคาเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว

สำหรับบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP)ถูกตัดเกรดเหลือ B แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็น “ลบ” อาการหนักที่สุด เพราะแบกหนี้เก่าไว้หลังแอ่น ใกล้ถึงเวลาจะต้องชำระคืน ทริสมองเห็นความเชื่อมั่นที่ถดถอยต่อความสามารถในการชำระหนี้ สถานะเงินสดที่ถูกกดดัน โดยบริษัทไม่สามารถเรียกเงินคืนจากลูกหนี้หรือการขายหลักประกันได้  บริษัทไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงหลักฐานที่สะท้อนถึงความสามารถที่จะหาแหล่งเงินสดที่เพียงพอหรือการกู้ยืมใหม่ สำหรับภาระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในระยะเวลาอันใกล้นี้

ทั้งนี้ บอร์ด “โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์-GSC” ประชุมด่วน หลังผู้ถือหุ้นไม่อนุมัติให้สัตยาบันช่วยเหลือการเงิน ACAP ลงมติเรียกเงิน 130 ล้านบาทคืนภายในสิ้นพ.ย.นี้ และปรับดอกเบี้ยตั๋วพี/เอ็นจาก 2% ต่อปี เป็น 5% ต่อปีโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2562 เป็นต้นไป

ข่าวลบเข้ามากระทบ ACAP อย่างต่อเนื่อง แต่นักลงทุนยังคงเข้าเก็งกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 2.38% ปิดที่ 1.72 บาท ณวันที่ 27 ก.ย. 2562

นอกจากนี้ยังมีบจ.อีกจำนวนหนึ่ง แม้ว่าทริสฯยังไม่ได้ปรับลดอันดับเครดิต แต่เปลี่ยนแนวโน้มเป็น “ลบ” จาก “คงที่” เช่น บริษัท ไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) เนื่องจากสถานะทางการเงินจะอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้หนี้เงินกู้จำนวนมากในโครงการโอนิโกเบ ขณะที่แผนในการขายหุ้น 40% ของโครงการเพื่อที่จะลดความเสี่ยงล่าช้าออกไป แต่ทริสฯคาดว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากพอร์ตการลงทุนในโรงไฟฟ้าต่อไปเป็นระยะเวลานานตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว

ล่าสุดทริสคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ที่ A-แต่เปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “ลบ”จาก”คงที่” สะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับที่สูงในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทริสคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทในปี 2562-2565 ส่วนใหญ่จะใช้ไปในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้าให้เช่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนามอีกด้วย แต่บริษัทคาดว่าจะชำระคืนหนี้บางส่วนด้วยเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนจากการใช้สิทธิ์ตามใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในปี 2563 ขณะที่ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้

“แม้ว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่บริษัทยังคงมีแผนการลงทุนจำนวนมาก ส่งผลให้หนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.40 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2562 จาก 3.23 หมื่นล้านบาทในปี 2560 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่าในปี 2561 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จากระดับ 5.6 เท่าในปี 2559″ทริสระบุ

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ฐานรายได้ประจำมีจำนวนมาก ตลอดจนความยืดหยุ่นทางการเงินจากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่สำคัญบริษัทจะได้รับอานิสงส์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเนื่องจากมีที่ดินจำนวนประมาณ 9,600 ไร่ (รวมถึงที่ดินที่อยู่ในนิคมแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา) ซึ่งประมาณ 85% ของที่ดินทั้งหมดอยู่ในชลบุรีและระยอง แนวโน้มของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมยังมีสัญญาณที่ดีจากความต้องการที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย

ผลจากการถูกปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ WHA ส่งผลต่อเนื่องถึงบริษัทลูก คือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เพราะแม่ถือหุ้น 72% และมีส่วนอย่างมากในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัท ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม เช่นเดียวกับบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) ที่ถูกปรับแนวโน้มอันดับเครดิต”ลบ”ตามแม่ 

นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทริสเตือนในเรื่องอันดับเครดิตในปัจจุบันและแนวโน้ม  เพราะบริษัทที่ถูกลดเกรดจะมีผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงิน หากจะระดมทุนในอนาคตต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น  ยิ่งเป็นการซ้ำเติมธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำ  รวมถึงบริษัทที่มีหนี้สินสูงๆ ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก!