บล.กสิกรฯ เปิดโผ 5 กลุ่มหุ้นเด่น เกาะติดสงครามการค้า-นโยบายการเงินไทย

HoonSmart.com>> บล.กสิกรไทย แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นเดือนต.ค. คัด 5 กลุ่มหุ้นเด่น พร้อมเกาะติดเจรจาการค้าสหรัฐและจีน นโยบายการเงินของไทย

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในเดือนต.ค.2562 มองหุ้นกลุ่ม ICT ได้แก่ DTAC และ TRUE ได้ปัจจัยบวกจากการเติบโตของรายได้และกำไรธุรกิจหลักที่แข็งแกร่งในครึ่งหลังของปี 2562 หลังจากตลาดมีบรรยากาศการแข่งขันเชิงบวก เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ที่ปรับสูงขึ้น การอุดหนุนค่าเครื่องที่ลดลง และการควบคุมต้นทุนทางการตลาดที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมมือถือโดยรวม

นอกจากนี้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดคุณภาพของน้ำมันเตาที่ใช้ในการเดินเรือ (Bunker fuel) ให้ลดลงจาก 3.5% เหลือ 0.5% ของกำมะถันในปี 2563 ได้แก่ TOP, PRM, BGC และ TASCO ปัจจัยบวกจากการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือของโลก

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ AP และ SPALI แรงหนุนจากโอกาสในการผ่อนคลายมาตรการอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของโรค AFS ได้แก่ CPF และ GFPT มีแรงหนุนจากการส่งออกเนื้อไก่ไปจีนที่สูงขึ้น และราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้นในเวียดนาม รวมถึงกลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ JASIF และ TFFIF จากปัจจัยบวกจากสภาพอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และโอกาสที่จะได้รับการอัดฉีดทรัพย์สินใหม่

นายภาสกร กล่าวว่า บล.กสิกรไทยยังมีมุมมองต่อตลาดเป็นบวก โดยมองเป้าหมาย SET Index ล่วงหน้า 12 เดือนอยู่ที่ 1,750 โดยปัจจัยที่สนับสนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ นโยบายผ่อนคลายของธนาคารกลาง และรอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM)

“เรายังมองกรอบการซื้อขายระยะสั้นของ SET Index อยู่ที่ 1,586 – 1,681 จุด ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) 10 ปีที่ลดลงมาเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.5% จากเดิมที่ 1.54% และ กำไรต่อหุ้น (EPS) ล่วงหน้า 12 เดือนที่ลดลงเล็กน้อยเป็น 107 บาท จากเดิมที่ 108 บาท”นายภาสกร กล่าว

สำหรับนโยบายทางการเงินในประเทศ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลายช่วงสิ้นปี หากเกิด 3 ปัจจัยนี้ ได้แก่ 1) ธนาคารกลางของกลุ่ม G3 ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน 2) กลุ่มธนาคารกลางในภูมิภาคเข้าสู่วัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง และ 3) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2562 ต่ำกว่า 3% เป็นอย่างมาก หรืออยู่ที่ประมาณ 2.5% โดยยังคงต้องติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ของภาครัฐว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

อย่างไรก็ตามในช่วงหลังมีสัญญาณเชิงบวกที่จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในประเด็นข้อพิพาททางการค้าลงได้ ซึ่งต้องติดตามการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ต.ค.2562 ซึ่งคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้แค่บางส่วนเท่านั้น