คอลัมน์ KTAM Focus : รถคันนี้สีทอง

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

 
 
 

ทองคำ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ฟอร์มแรงแห่งปี 2019 เมื่อโลกเข้าสู่ยุค “ดอกเบี้ยต่ำยาวนาน” (low-for-longer interest rates)

ผู้ชนะจากข่าวร้าย การพุ่งขึ้นของราคาทองในปีนี้ นอกจากได้ปัจจัยหนุนตัวสำคัญคือ “ดอกเบี้ยขาลง” แล้ว ปัจจัยบวกอื่นๆก็มาจาก “ข่าวร้าย” แทบทั้งสิ้น อาทิ ความเสี่ยงการเมืองในประเทศยักษ์ใหญ่ตั้งแต่ Brexit ในยุโรป จนถึงการยื่นถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ทวีความรุนแรง กดดันภาคการผลิต ก่อความไม่แน่นอนจนเริ่มลามไปยังส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจโลก เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย

นักลงทุนจำนวนมาก เชื่อว่าถ้า “หมดข่าวร้าย” หรือปัจจัยเสี่ยงคลี่คลาย ทองก็คง “หมดรอบ” …ผมปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว โดยยืนยันว่า แม้หมดข่าวร้าย ทองก็ยังเป็นขาขึ้น! ด้วยปัจจัยสนับสนุนระยะยาว และขอเริ่มต้นด้วยการอธิบาย ความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนในทองคำ ดังนี้

ประโยชน์ของทองคำ ในแง่การลงทุน 6 ประการ

1. กระจายความเสี่ยง ทอง มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นๆค่อนข้างต่ำ จึงช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนได้

2. ทองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและใช้สะสมมูลค่า เพราะไม่ขึ้นกับประเทศหรือระบบการเงินใดๆ นักลงทุนทั่วโลกจึงมักต้องการถือครองทองคำมากขึ้น เมื่อเผชิญความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเสถียรภาพของประเทศและระบบการเงิน

3. ทองมีซัพพลายจำกัดและหายากขึ้น เหมืองทองแห่งใหม่ๆมักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดำเนินกิจการได้ยากลำบาก

4. ทองเป็นสกุลเงินสากล ใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนแทบจะตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ เพราะความหายาก มีคุณสมบัติคงที่เหมือนกันทั้งโลก ขนย้ายได้ง่าย และเป็นองค์ประกอบสำคัญของทุนสำรองระหว่างประเทศ

5. ราคาทองมักปรับตัวขึ้นเมื่อดอลลาร์อ่อนค่า เพราะเมื่อสกุลเงินอื่นๆแข็งค่าขึ้นเทียบกับ USD ผู้ซื้อทองที่อยู่นอกสหรัฐฯ (ส่วนใหญ่อ่อนไหวต่อราคา) ก็จะมีอำนาจซื้อมากขึ้น ดังนั้น ดอลลาร์อ่อนค่า จึงช่วยกระตุ้นความต้องการทองคำ

6. ทองเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ “hedge against inflation” ตามหน้าที่ในฐานะสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง โดยถึงแม้เราอยู่ในยุค “เงินเฟ้อต่ำยาวนาน” (prolonged disinflation) เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว อาทิ สังคมผู้สูงอายุ ผลกระทบจาก e-commerceเทคโนโลยีลดต้นทุน ฯลฯ ทว่า นโยบายผ่อนคลายการเงินของธนาคารกลาง ทั้งกดดอกเบี้ยต่ำยาวนาน หรือ พิมพ์เงิน (QE) ล้วนเป็นการ “เพิ่มปริมาณเงิน” จำนวนมากเข้าไปในระบบ สอดคล้องกับความหมายโดยตรงของคำว่า “เฟ้อ” ที่แปลว่า “มากเกินไป” ดังนั้น เงินเฟ้อในอนาคต ไม่จำเป็นต้องมาจากสาเหตุโบราณๆ เช่น เศรษฐกิจร้อนแรง หรือ ราคาน้ำมันพุ่ง

แต่น่าจะเป็นผลจากความตั้งใจ “ดัน” ของธนาคารกลาง โดยหลักฐานที่ชี้ชัดถึงความพยายามดังกล่าว คือ Makeup Strategies กลยุทธ์ใหม่ซึ่งเฟดกำลังคิดค้น และจะเปิดเผยในครึ่งแรกของปี 2020 มุ่งชดเชย “ระดับราคา” ที่ต่ำกว่าแนวโน้มมานาน กลยุทธ์นี้อาจรวมถึง กำหนดเป้าเงินเฟ้อ “เฉลี่ย” และตั้งเป้า “ระดับราคา” แปลว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะผลักดัน “อัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา” ซึ่งก็คือ “เงินเฟ้อ” ให้สูงเกิน 2% ดังนั้น อย่าแปลกใจก็แล้วกัน ถ้าต่อไปจะได้เห็น เฟด ลดดอกเบี้ยลงหรือผ่อนคลายเพิ่มอีก แม้เศรษฐกิจยังดีอยู่!

ความพยายามกระตุ้นเงินเฟ้อให้เร่งขึ้น อันเป็น “วัตถุประสงค์ร่วม” ที่ “จำเป็นและเร่งด่วน” (เพราะความคาดหวังเงินเฟ้อกำลังดำดิ่ง) ของธนาคารกลางหลักทั้ง 3 แห่งของโลกได้แก่ Fed, ECB และ BOJ นี่แหละจะ “ขึงพืด” นโยบายการเงินไว้ให้ผ่อนคลายไปอีกนาน แปลว่า ไม่ต้องไปหวังให้ ECB, BOJ เลิก QE หรือขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆนี้…ไม่มีทางเลย! ขณะ เฟด คงจะต้องลดดอกเบี้ยลงอีกหลายครั้ง มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และมีโอกาสสูงที่จะกลับไปทำ QE อีกรอบ!!! ทั้งนี้ สูตรของการเร่งเงินเฟ้อคือ ต้องกดดอกเบี้ยลงจนต่ำกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ “ดอกเบี้ยแท้จริง” (= ดอกเบี้ย – เงินเฟ้อ) ติดลบ …สภาวะดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนราคาทอง เพราะ ทองคำเป็นสกุลเงินที่ดอกเบี้ย 0% เสมอ…ไม่มีทางติดลบ!!!

กระแสประชานิยม ลามทั่วโลก (ขออภัยที่ต้องเขียนถึงสิ่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเป็นปัจจัยระยะยาวที่สำคัญมาก) ส่งผลให้นโยบายใหม่ๆของนักการเมืองมักออกมาในแนว “ลด(ภาษี)แหลก แจก(เงิน)กระจาย” เพื่อเรียกความนิยม หนี้สาธารณะจึงมีแต่จะพอกพูนขึ้น ย้อนกลับไปกดดันธนาคารกลางไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อช่วยลดภาระของรัฐบาล …นี่ก็เข้าทาง “ทอง”

ทองขึ้นมามากยังซื้อได้หรือ? เราไม่สามารถคำนวณ “มูลค่าเหมาะสม” ของทองคำด้วยวิธีที่ใช้กับหุ้น เช่น Price Multiples หรือ DCF เพราะ ทอง ไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผล นักวิเคราะห์บางรายอาจพยายามคาดการณ์ราคาทองด้วยเทคนิคต่างๆ แต่ก็ไม่มีข้อสรุปว่าควรใช้วิธีใด ดังนั้น ในบรรดา “ดาว 3 ดวง” หรือปัจจัย 3P: Policies, Prices และ Positions ที่ใช้พิจารณากลยุทธ์ ผมจึงให้ความสำคัญกับ Policies (ซึ่งร่ายยาวไว้แล้วข้างต้น) และ Positions คือ สถานะของนักลงทุน เป็นหลัก

ปริมาณทองคำใน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นอีทีเอฟทองขนาดใหญ่สุดในโลกอยู่ที่ 923.76 ตัน (4 ต.ค.) เพิ่มขึ้น 47% จากจุดต่ำสุดในเดือน ธ.ค. 2015 เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของวัฏจักรล่าสุด ทว่าระดับปัจจุบันยังห่างจากจุดสูงสุดเมื่อเฟดเพิ่ม QE ครั้งสุดท้ายในเดือน ธ.ค. 2012 อยู่ถึง 47% เช่นกัน! ตัวเลขดังกล่าวรวมถึง จุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกันมากของ ทอง และ เฟด นั้นชวนขนลุก! อย่างไรก็ตาม สรุปว่า นักลงทุนยังถือทองน้อย มีโอกาสเพิ่มได้อีกมาก เป็นปัจจัยหนุนราคาในอนาคต

ผมไม่มีเป้าราคา แต่มั่นใจด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาว่า ทอง ณ ปัจจุบัน เป็นแค่จุดเริ่มต้นของขาขึ้นรอบใหญ่!!!

เครื่องมือที่ใช้แสวงโอกาสจากราคาทองขาขึ้น นอกจากกองทุนที่เน้นลงทุนในอีทีเอฟทองคำคือ KT-GOLD แล้วก็ยังมี KT-PRECIOUS กองทุน FIF ที่กองทุนหลักเน้นหุ้นเหมืองทองและธุรกิจเกี่ยวกับโลหะมีค่า เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน