บลจ.ยูโอบีชู 5 กองทุนตอบโจทย์ลงทุน – 8 เดือนบริหาร AUM โต 16.6%

HoonSmart.com>> บลจ. ยูโอบี เปิดผลงาน 8 เดือนแรกบริหาร AUM เติบโต 16.6% มูลค่าสินทรัพย์แตะ 2.45 แสนล้านบาท สูงกว่าตลาดรวมเติบโตเฉลี่ย 4% รุกพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบริหาร เตรียมเปิดตัว ‘e-account opening application’ เดือนธ.ค.นี้ เปิดบัญชีซื้อขายกองทุนผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมแนะกระจายพอร์ตลงทุนท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว คัด 5 กองทุนเด่นตอบโจทย์นักลงทุน

วนา พูลผล

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.– ส.ค.2562) บลจ.ยูโอบี มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) เติบโต 16.6% จาก 2.10 แสนล้านบาท เป็น 2.45 แสนล้านบาท (ณ 30 ส.ค. 2562) สูงกว่าภาพรวมตลาดในช่วงเดียวกันที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 4% ส่วนมูลค่า AUM เฉพาะช่วง 4 เดือน (นับจากเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2562) มีอัตราเติบโต 9%

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจากกลุ่มลูกค้าสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนในกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ที่มีมูลค่า AUM เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท (ณ 30 ส.ค. 2562) ประกอบกับเดือนพ.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เสนอขายกองทุนรวมใหม่อีก 5 กองทุน เพื่อตอบโจทย์กับสภาวะตลาดการลงทุนปัจจุบัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี

นายวนา กล่าวว่า บลจ.ยูโอบี มีมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่ายังคงสามารถเติบโตได้ในระดับปานกลาง และมีแนวโน้มที่ขยายตัวชะลอลง เป็นผลจากภาวะสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ตลาดทุนมีความผันผวนสูงขึ้น โดยธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงของการเจรจาการค้า ประกอบกับมีความกังวลว่าต่อการเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงไปต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น จึงเริ่มดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2562 ลดลงเหลือ 2.8% หลังจากการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามบลจ.ยูโอบี ยังคงนำเสนอทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาดและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญ การสนับสนุนจากเครือข่ายในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงการจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายสำหรับนักลงทุน ขณะเดียวกันได้นำนโยบายธรรมาภิบาลมาใช้ในกระบวนการลงทุน โดยมุ่งเน้นบริหารจัดการลงทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และนำปัจจัยด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาเป็นหลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าลงทุน

นอกจากนี้ ได้มุ่งเน้นพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าในยุคดิจิทัล โดยเข้าร่วมโครงการ NDID (National Digital ID) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาให้บริการช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการเปิดบัญชี และเพื่อตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป คาดว่าภายในเดือนธ.ค.นี้จะสามารถเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ ‘e-account opening application’ เพื่อให้บริการทางออนไลน์ ที่จะช่วยให้การเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นและเพิ่มโอกาสขยายฐานลูกค้า

รัชดา ตั้งหะรัฐ

น.ส.รัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว จากผลกระทบปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ที่อาจยืดเยื้อต่อเนื่องถึงปี 2563 ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนทั่วโลก ประกอบกับผลประกอบการในตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นมีการประเมินมูลค่า (Valuation) สูงขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานได้ ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ (Fixed Income) แม้ว่าจะมีอัตราผลตอบแทนไม่สูง อย่างไรก็ตามจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง จึงมีโอกาสจะได้รับกำไรจากราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น (Capital Gain) มาชดเชย

“บลจ.ยูโอบี จึงมีมุมมองเชิงกลยุทธ์เน้นกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท (Asset Allocation) ผ่านกองทุนรวม เพื่อลดการกระจุกตัวของพอร์ต และแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่นการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว เพื่อลดผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความผันผวน หรืออาจจะมองหาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูงที่มีโอกาสเติบโตได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจและมีกระแสเงินสดดี”น.ส.รัชดา กล่าว

นอกจากนี้ยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ตราสารหนี้กลุ่ม Investment Grade รวมถึงลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก อาทิ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund), ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า (REITs) ที่มีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น แต่สามารถให้โอกาสรับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและการลงทุนในพันธบัตร รวมถึงมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า บลจ.ยูโอบี ได้คัดสรรกองทุนรวม 5 กองที่มีความโดดเด่น เพื่อตอบโจทย์การลงทุนภายใต้กลยุทธ์ Asset Allocation ที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความผันผวนในปัจจุบัน ได้แก่ 1. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ไดนามิค บอนด์ ฟันด์ (UDB) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน The Jupiter Global Fund – Jupiter Dynamic Bond (Class I) (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียว โดยเน้นกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

2. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด เฟล็กซิเบิ้ล อินคัม ฟันด์ (UFIN) เน้นลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษทัจัดการจะพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินแต่ละประเภทในสัดส่วนตั้งแต่ 0-100% ของมูลค่า NAV ของกองทุน ซึ่งสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการตามความเหมาะสมของสภาวการณ์ในแต่ละขณะและป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

3. กองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว ชนิดไม่จ่ายเงินปันผล (UOBLTF) และกองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว ชนิดจ่ายเงินปันผล (UOBLTF-D) เน้นลงทุนหุ้นบริษัทจดทะเบียนเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม เงินส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนในตราสารทางการเงิน และหรือ ตราสารแห่งหนี้ต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง

4. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ดูเรเบิ้ล ฟันด์ (UGD) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน United Global Durable Equities Fund – Class USD ACC ซึ่งจัดตั้งและบริหารจัดการโดย UOB Asset Management Ltd. (สิงคโปร์) โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มั่นคง ที่จดทะเบียนและซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ให้กำไรทบต้นอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ลงทุน โดยมีระดับความผันผวนของผลตอบแทนที่ต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของบริษัททั่วไป และมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

5. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ฮาร์โมนี ฟันด์ ซีรีส์ (UJAZZ, UPOP, UROCK) กระจายลงทุนใในสินทรัพย์ 5 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ กองทุนผสม หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และสินทรัพย์ทางเลือก ทั้งโดยตรงและผ่านกองทุนรวม เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุน แต่ละกองทุนจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน CIS กองทุน Infra กองทุน property กองทุน Private equity หรือ กองทุนอีทีเอฟ (ETF) (กองทุนปลายทาง) ตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป โดยจะมี net exposure ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่างประเทศโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

กองทุน United Harmony–Jazz Fund (UJAZZ) เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำถึงกลาง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนบนอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นตัวชี้วัด 4% ต่อปี มีความผันผวนปานกลาง เฉลี่ย 4-6% กองทุนที่สองได้แก่ กองทุน United Harmony–Pop Fund (UPOP) เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางถึงสูง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนบนอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นตัวชี้วัด 6% ต่อปี มีความผันผวนไม่สูงมากเฉลี่ย 6-10% และกองทุนที่ 3ได้แก่กองทุน United Harmony–Rock Fund (UROCK) เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ เน้นลงทุนในหุ้น เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนบนอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นตัวชี้วัด 8% ต่อปี มีความผันผวนสูงเฉลี่ย 10-15%