NER คาด Q3/62 โตรับราคายางพุ่ง เตรียมรุกไบโอแก๊ส

HoonSmart.com>> “นอร์ทอีส รับเบอร์” คาดผลงานไตรมาส 3/62 ดีขึ้นรับราคายางพาราพุ่ง ยอดขายใกล้เป้าปีนี้ 2.6 แสนตัน พร้อมเตรียมผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้และจำหน่าย

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 3/62 คาดว่าจะดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาส 2/62 เนื่องจากราคายางพารามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมียอดขายรวม 255,000 ตันจากเป้าหมายในปีนี้ที่ 260,000 ตัน เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ บริษัทมีลูกค้าใหม่ที่เริ่มซื้อขายเพิ่มเข้ามาอีกหลาย

พร้อมกันนี้มีลูกค้ารายใหญ่ 2 รายพร้อมที่จะเซ็นสัญญา Long Term เมื่อโรงงานใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คือ Apollo Tyre ล่าสุดได้เข้ามาตรวจสอบคุณภาพโรงงานแล้ว ด้าน MICHELIN จะเข้ามาตรวจสอบคุณภาพโรงงานในเดือนพ.ย.นี้

นายชูวิทย์ กล่าวว่า บริษัทได้มีการจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ในการเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัท เพื่อประกอบกิจการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้และจำหน่าย ให้มีความชัดเจน ครอบคลุมและรับรองการผลิตก๊าซชีวภาพจากโครงการไบโอแก๊สของบริษัท

โครงการผลิตก๊าซชีวภาพของบริษัทฯ ประกอบไปด้วยโครงการย่อย 2 โครงการ โครงการละ 2 เมกกะวัตต์ โครงการแรกที่จะคอมมิชชันนิ่งในอีก 5 เดือนข้างหน้า มีมูลค่าการลงทุนทางบัญชีอยู่ที่ประมาณ 163 ล้านบาท จากการศึกษาเพิ่มเติม มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต ปรับปรุงสัดส่วนการเติมวัตถุดิบ และปรับการบริหารจัดการขั้นตอนกระบวนการผลิตบางส่วนพบว่า จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ปริมาณการผลิตก๊าซชีวภาพ 17,000 ลบ.ม.ต่อวัน ระยะเวลาคืนทุนที่ 8.7 ปี ความสามารถในการลดต้นทุน (ประเมินเทียบกับต้นทุนพลังงานปัจจุบันที่ซื้อที่ราคา 22 บาทต่อหน่วย) สามารถลดลงต้นทุนพลังงานลงได้ประมาณ 5 – 7 บาทต่อหน่วย ทั้งหมดถือเป็นการลงทุนเชิงยั่งยืนซึ่งสามารถขยายต่อยอดไปถึงกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ โดยสนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรกรรมร่วมกันระหว่างชุมชนรอบด้านกับบริษัทต่อไปอีกด้วย

“ในการจำหน่ายไฟฟ้านั้น ต้องมีการขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอีกหลายขั้นตอนและใช้เวลาดำเนินการอีกพอสมควร ซึ่งบริษัทได้เคยเดินเรื่องขอจำหน่ายไฟฟ้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏได้รับแจ้งว่าจุดเชื่อมต่อและสายส่งในพื้นที่เต็มจำนวนจึงไม่ได้รับการอนุมัติให้ขายไฟฟ้า บริษัทฯ จึงปรับแผนโดยการนำก๊าซชีวภาพที่ได้มาปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ในกิจการของบริษัท และในกระบวนการปั่นไฟนั้นจะได้พลังงานความร้อนจากเครื่องปั่นไฟอีกทางหนึ่งซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ทดแทนพลังงานความร้อนจากแหล่งพลังงานที่ต้องซื้อเข้ามา ส่งผลให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึงสองทาง คือ ค่าพลังงานเชื้อเพลิงในการอบยางและค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในกิจการพร้อมกัน” นายชูวิทย์ กล่าว