แอสเซท พลัส ลงทุนธีม “ดิสรัปทีฟ” กองแรกของไทย

บลจ. แอสเซท พลัส เปิดตัวกองทุน “แอสเซทพลัส ดิสรัปทีฟ ออพพอร์ทูนิตี้ส์” เชื่อกระแสดิสรัปทีฟทั่วโลกรุนแรง ดันผู้นำการแทรกแซงธุรกิจโตฉลุย สร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงในระยะยาว เสนอขายครั้งแรก 19-30 มี.ค.นี้

นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วของระดับของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั่วโลก ส่งผลสืบเนื่องให้ธุรกิจต่างๆ ล้วนต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนก่อให้เกิดกระแสทางธุรกิจที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญคือกระแสการแทรกแซงทางธุรกิจ (Disruptive Trend) ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า บริษัทที่มีโมเดลธุรกิจใหม่ (New Business Model) และสามารถเข้ากับกระแสหลักของโลกล้วนก้าวขึ้นมาครองความสำเร็จแทนธุรกิจแบบเดิมๆ อีกทั้งหุ้นของกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำในการแทรกแซงธุรกิจ (Disruptor) ยังมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด สามารถเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนที่พร้อมรับความเสี่ยงสูงจากหุ้นและคาดหวังโอกาสรับผลตอบแทนสูงในระยะยาวได้

บลจ. แอสแซท พลัส จึงเตรียมเสนอขายกองทุนเปิด แอสเซทพลัส ดิสรัปทีฟ ออพพอร์ทูนิตี้ส์ (ASP-DISRUPT) ซึ่งเป็นกองทุนแรกในอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยที่เน้นการลงทุนในธีมดิสรัปทีฟ กำหนดเสนอขายครั้งแรก 19-30 มี.ค.2561 ลงทุนขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะช่วง IPO จะค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end fee) ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเพียง 1.25% จากปกติ 1.50%

กองทุน ASP-DISRUPT จะเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่เป็นผู้แทรกแซงทางธุรกิจ (Disruptor) และหุ้นของบริษัทที่ได้รับประโยชน์จาก Disruptive Trend เพื่อแสวงหาโอกาสรับผลตอบแทนสูงในระยะยาวจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจแบบก้าวกระโดด ครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจหลักแห่งโอกาส ได้แก่ 1) กลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 2) กลุ่มไลฟ์สไตล์ดิสรัปชั่น (Lifestyle Disruption) และ 3) กลุ่มคมนาคมขนส่งและพลังงานแห่งอนาคต (Future Transportation and Energy) โดยกองทุนจะผสมผสานทั้งการลงทุนตรงในหุ้นที่ผ่านการพิจารณาคัดสรรจากทีมผู้จัดการกองทุนของ บลจ. แอสเซท พลัส การลงทุนใน ETF ที่มีแนวทางการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากรูปแบบธุรกิจใหม่(New Business Model) เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และส่งผลกระทบต่อตลาดผลิตภัณฑ์เดิม (Disruptive) และการกระจายการลงทุนไปในกองทุนรวมในต่างประเทศ

ในเบื้องต้นเฉพาะส่วนของการลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศ คาดว่าจะลงทุนในกองทุน AXA WF Framlington Digital Economy I USD ภายใต้การบริหารจัดการของ AXA Investment Managers บริษัทจัดการกองทุนระดับโลก เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าพอใจจากกระแสดิสรัปทีฟในกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมากองทุนดังกล่าวมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในเดือนตุลาคม 2560 ให้ผลตอบแทนไปแล้วถึง 15.04% ขณะที่ดัชนี MSCI AC World Net Total Return ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานให้ผลตอบแทนเพียง 5.15% (Source :AXA Investment ณ 28 ก.พ. 2561) ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน


สำหรับความโดดเด่นของกระแสดิสรัปทีฟใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักที่กองทุน ASP-DISRUPT มุ่งเน้นลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนสูงในอนาคตจากกระแสดิสรัปทีฟนั้น นายรัชต์เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นกองทุนจะเน้นน้ำหนักไปที่กลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 50% ส่วนที่เหลือจะลงทุนในกลุ่มคมนาคมขนส่งและพลังงานแห่งอนาคต (Future Transportation and Energy) 25% และกลุ่มไลฟ์สไตล์ดิสรัปชัน (Lifestyle Disruption) 25% โดย บลจ. แอสเซท พลัส มองเห็นโอกาสจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งคาดว่าจะมี Disruptor เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและมีการซื้อขายสินค้าผ่าน Digital Platform ทั่วโลกยังคงขยายตัวต่อเนื่องนับจากปี คศ. 2016 -2021 รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกรรมแบบไร้เงินสดที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องซึ่งคาดกันว่าในปี คศ. 2023 สัดส่วนธุรกรรมการซื้อขายสินค้าแบบไม่ใช้เงินสด (Cashless Payment) จะเพิ่มขึ้นแซงหน้าการใช้เงินสดแบบเดิมๆ (Source : BCG Analysis, Euro monitor Passport, 2015)

นอกจากนี้ รายได้จากการให้บริการ Cloud Service ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 2012 ถึงปัจจุบันมีการเติบโตเฉลี่ย 22.8% ต่อปี (Source : IDC “Public IT Cloud Services) เช่นเดียวกันกับ Blockchain ที่จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภาคการเงินการธนาคาร ด้านธุรกิจในกลุ่มคมนาคมขนส่งและพลังงานแห่งอนาคต (Future Transportation and Energy) ถือว่ากระแสดิสรัปทีฟยังคงเข้มข้น สอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าในปี คศ. 2030 ส่วนแบ่งทางการตลาดรวมของรถยนต์ Hybrid และ รถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ของยอดขายทั้งหมด (Source : Blackrock Investment Institute and LMC Automotive, April 2017) และปริมาณความต้องการแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะนับจากปี คศ. 2015 จนถึงปี คศ. 2030 จะเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 50 เท่าเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ถูกลงและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น (Source : Bloomberg New Energy Finance, Visual Capitalist.com) ทำให้บริษัทผู้พัฒนายานยนต์ไฟฟ้าหรือพัฒนาคุณภาพการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็น Disruptor มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่มไลฟ์สไตล์ดิสรัปชัน (Lifestyle Disruption) ถือว่ามีบริษัทที่เป็น Disruptor ที่น่าสนใจจำนวนมากและเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันในทุกมิติ ทั้งธุรกิจด้านเอ็นเทอร์เทนเมนท์ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี Virtual Reality, บริษัทที่เป็นผู้นำด้านความบันเทิงทางอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลแพลตฟอร์ม ธุรกิจด้านสุชภาพ อาทิ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นการให้คำปรึกษาทางสุขภาพ การพัฒนายาแบบ Biosimilar การพัฒนา Smart Device และระบบการศึกษาผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ กระแสดิสรัปทีฟในธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกมักสร้างผู้นำทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และศักยภาพการแข่งขันสูง เนื่องจากผู้ที่เข้ามาครองความสำเร็จในฐานะผู้แทรกแซงทางธุรกิจ หรือ Disruptor นั้น ไม่เพียงต้องมีความแข็งแกร่งในการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณค่าเหนือกว่าและแตกต่างไปจากเดิม หรือมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในเชิงของราคาและคุณภาพเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของตนเองและส่งผลสืบเนื่องในลักษณะของผลกระทบในวงกว้างต่อไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจที่เป็น Disruptor สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และส่งผลสืบเนื่องให้ราคาหุ้นของบริษัทนั้นๆ เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งบลจ. แอสเซท พลัส เชื่อมั่นว่า การลงทุนกับกระแสดิสรัปทีฟจะเป็นอีกทางเลือกที่สามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงในระยะยาวที่น่าพึงพอใจให้แก่ผู้ลงทุนได้ในอนาคต