ส่องกองทุน 9 เดือนปี 62 กลุ่มไหนผลตอบแทนดีสุด??

HoonSmart.com>> ส่องผลงานกองทุน 9 เดือนปี 62 ลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้องอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ยังครองแชมป์ให้ผลตอบแทนสูง Property Indirect ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ สูงสุด 28% รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 19.4% ด้าน “สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน” ทุบผลตอบแทนหุ้นหลายประเทศทั่วโลกหดลง แต่หุ้นสหรัฐฯ ยังทำผลตอบแทนได้สูง 15.9% ส่วนหุ้นจีน 10% ฟาก “กองทุนห้นไทย” ลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กผลตอบแทน 7.4% ขนะกองทุนหุ้นขนาดใหญ่

ภาพรวมการลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2562 ได้รับผลกระทบจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ ในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐจึงปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีนับจากวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2551 และส่งผลกระทบมูลค่าการส่งออกของไทย จนในที่สุดสศช. ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีลดลงจากเติบโตทั้งปี 3.3%-3.8% เป็น 2.7%-3.2%

ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางขาลงช่วงเดือนก.ค.ก่อนจะทรงตัวในกรอบ 1,600-1,670 จุดและปิดเดือนก.ย.ที่ 1,637.22 จุด ผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ รวมผลตอบแทนเงินปันผล (SET TR) รอบ 9 เดือน +7.6%

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แม้ว่าการลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2562 อาจมีผลตอบแทนในบางกลุ่มกองทุนลดลงไปบ้าง แต่ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ต้นปีถึง 30 ก.ย.2562 หรือในรอบ 9 เดือนแรก เกือบทุกกลุ่มกองทุนยังเป็นบวก นำโดยกลุ่ม Property Indirect ที่ลงทุนในกลุ่มเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ผลตอบแทนเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 28.0% ตามมาด้วยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ (Property – Indirect Global) อยู่ที่ 19.4%

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองทุนตราสารทุนอื่น ๆ ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยโดดเด่นเช่น Global Infrastructure (ลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน) 17.8%, กองทุนหุ้นยุโรป (Europe Equity) 16.7%, กองทุนหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลก (Global Technology) 15.9% กองทุนหุ้นสหรัฐ (15.26% กองทุนหุ้นทั่วโลก (Global Equity) 11.50% กลุ่มกองทุนหุ้นจีน (China Equity) 10.75% กองทุนหุ้นญี่ปุ่น 8.06% กองทุนรวมผสม (Aggressive Allocation) 5.22% กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ 4.57% กองทุนหุ้นเอเชีย แปซิฟิค ยกเว้นญี่ปุ่น 3.12%

สำหรับกองทุนที่มีผลตอบแทนติดลบในช่วง 9 เดือนแรกมีเพียง 2 กองทุน ได้แก่ กองหุ้นอินเดียติดลบ 1.80% และกองทุนหุ้นเอเชียติดลบ 0.98%

ส่วนกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ทองคำ ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้ายืดเยื้อ และความเคลื่อนไหวที่ออกมาส่งสัญญาณในเชิงลบ หนุนให้นักลงทุนซบสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ผลตอบแทนกองทุน 9 เดือนสูง 11.06% ส่วนกองทุนน้ำมันผลตอบแทนอยู่ที่ 9.52%

ด้านกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ไทยนำโดยกลุ่ม Emerging Market Bond ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 1 ปี 7.5% ตามมาด้วยกองทุน Global High Yield Bond Fix Term และ Global Bond ที่ 5.2% และ 4.7% ตามลำดับ

กลุ่ม High Yield Bond Fix Term ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดสำหรับกองทุนตราสารหนี้ไทย 3.9% โดยเป็นไปตามความเสี่ยงที่มากกว่า รองลงมาเป็นกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว (Mid/Long Term Bond) 3.4%

กลุ่มกองทุนหุ้นไทยกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) และขนาดกลาง-เล็ก (Equity Small/Mid-Cap) ของไทย มีผลตอบแทนเฉลี่ยปีนี้ที่ 5.6% และ 7.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบ SET TR 7.6% แต่หากพิจารณาผลตอบแทนรอบ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าทั้งสองกลุ่มยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากกว่า SET TR ซึ่งมีผลตอบแทนอยู่ที่ -3.9%

“Q3/62 เงินไหลเข้ากองทุนหุ้นไทย 501 ลบ. งวด 9 เดือนติดลบ 1.8 หมื่นลบ.”

สำหรับกองทุนหุ้นไทย(ไม่รวม LTF, RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.9 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% จากสิ้นปี 2561 โดยในไตรมาส 3 มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 501 ล้านบาท แต่ในรอบ 9 เดือนยังเป็นเงินไหลออกสุทธิรวม -1.8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสม 9 เดือนอยู่ที่ 6.1% ในขณะที่ผลตอบแทนของ SET TR อยู่ที่ 7.6%

ทั้งนี้จากข้อมูลในรอบเกือบ 6 ปีที่ผ่านมาพบว่า ส่วนแบ่งตลาดกองทุนหุ้นไทยที่ไม่รวม LTF และ RMF มีความเปลี่ยนแปลงไปในส่วนของ

1) มูลค่าทรัพย์สินที่ในปัจจุบันเติบโตมากกว่า 2 เท่าจากปี 2556
2) ผู้นำตลาดมีการเปลี่ยนแปลงโดย บลจ. ไทยพาณิชย์ที่เคยมีส่วนแบ่งตลาด 8% แต่เพิ่มขึ้นเป็น 16% ในปัจจุบัน รวมทั้ง บลจ. ธนชาตที่มีส่วนแบ่งตลาด 14% เพิ่มขึ้นจากเพียง 4% ในปี 2556

ทั้งนี้หากดูในช่วงปี 2560 และ 2561 ที่มีเงินไหลเข้าค่อนข้างสูง (4.5 หมื่นล้านบาทและ 8.8 หมื่นล้านบาทตามลำดับ) พบว่าทั้ง 2 บลจ. มีเงินไหลเข้าสูงทั้ง 2 ปี

สำหรับบลจ.ไทยพาณิชย์เป็นเงินไหลเข้ากองทุนที่มีอยู่เดิมเช่นกองทุน SCB SET Index (Acc), SCB Dividend Stock (Div), และ SCB SET50 Index (Acc) ในขณะที่บลจ.ธนชาตเป็นเงินไหลเข้ากองทุนเปิดใหม่ เช่น กองทุน Thanachart Dividend Stock และ Thanachart Smart Beta

อย่างไรก็ตามในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมากองทุนหุ้นไทยมีเงินไหลออกสุทธิ -1.8 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดจาก บลจ.ธนชาต ราว -6.3 พันล้านบาท ตามมาด้วยบลจ.บัวหลวง -2.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบลจ.รายใหญ่เช่น บลจ.ทหารไทย บลจ.พรินซิเพิลและบลจ.ยูโอบีที่มีเงินไหลออกสุทธิเช่นกัน

อ่านประกอบ

มอร์นิ่งสตาร์ฯ คาดโค้งสุดท้ายปี 62 เงินไหลเข้า LTF ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล.