จี้ตลาดปรับเกณฑ์ เอื้อต่างชาติได้เปรียบรายย่อย

HoonSmart.com>>จี้ตลาดหลักทรัพย์ปรับเกณฑ์ ลดความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างนักลงทุนไทย-สถาบันต่างประเทศ ห่วงรายย่อยหายไปจากตลาด

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนรายย่อย เข้ามาซื้อขายหุ้นน้อยลง ไม่ใช่เพราะภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ให้เข้ามาลงทุนเท่านั้น แต่ยังประสบปัญหาขาดทุนมานาน เพราะเกมส์การลงทุนเปลี่ยนแปลงไปมาก

ส่วนหนึ่งเกิดจากหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ ทำให้นักลงทุนรายบุคคล เสียเปรียบนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันต่างประเทศ เช่น กรณีต้องการขายหุ้น นักลงทุนไทย จะต้องมีหุ้นในพอร์ตก่อนถึงจะสั่งขายได้ ขณะที่สถาบันต่างประเทศไม่ต้องมีหุ้นในพอร์ตของบริษัทหลักทรัพย์ก่อนก็สมารถขายได้และไม่ต้องตรวจสอบว่ามีอยู่ที่ใด

ส่วนการยืมหลักทรัพย์ (SBL)  นักลงทุนไทยต้องวางหลักประกันเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 150% ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม แต่สถาบันต่างประเทศไม่ต้องวางหลักประกัน นอกจากนี้การส่งออเดอร์ ยังห้ามตั้งราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งล่าสุด และไม่สามารถส่งคำสั่งขายในช่วง ATO และ ATC แต่สถาบันต่างประเทศ ไม่มีข้อห้าม

นอกจากนี้ การส่งมอบหลักทรัพย์ก็มีเวลา 1 วันก่อนเวลา 12.00 น. คือ (T+1) เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ส่งมอบหลักทรัพย์ให้กับ TCH ขณะที่สถาบันต่างประเทศ มีเวลา 2 วัน (T+2) ก่อนเวลา 11.30 น. ผ่านระบบ PSMS ของ TSD

ทางด้านการส่งออเดอร์ นักลงทุนไทย ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้การซื้อขายผ่านระบบ DMA (Direct Marker Sccess) ส่งตรงเข้าตลาดไม่ได้ แถมยังไม่สามารถใช้โปรแกรมสำเร็จรูปของตนเองได้ ให้ใช้เฉพาะของเวนเดอร์ ที่ได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น

ส่วนสถาบันต่างประเทศทำได้ มีระบบ โปรแกรม ช่องทางและอุปกรณ์เอง ทำให้มีความรวดเร็ว แถมค่านายหน้าต่ำกว่า สามารถทำกำไรได้ทุกช่วงเวลา และยังสามารถใช้โปรแกรมสำเร็จรูปส่งผ่าน DMA ได้ รวมถึงโปรแกรมสำเร็จรูปของตนเองส่งคำสั่งได้ โดยขออนุญาตจากตลาดเท่านั้น

เช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ TFEX กำหนดให้นักลงทุนต้องวางหลักประกันตั้งแต่วันแรก (T) ก่อนทำการซื้อขาย ด้วยหลักประกันจำนวน 1.9 เท่าของเกณฑ์ TCH และเรียกหลักประกันเพิ่มเมื่อหลักประกันต่ำกว่า 70% เมื่อเทียบกับมาร์จิ้น และถูกบังคับขายเมื่อ IM ต่ำกว่า 30%

สำหรับสถาบันต่างประเทศ มีเวลาในการวางหลักประกัน หลังวันซื้อ 1 วันคือ T+1 ก่อนตลาดปิดทำการซื้อขายภาคบ่าย 1 ชั่วโมง ถ้าปิดสถานะภายในวันไม่ต้องวางหลักประกัน หากต้องวางก็ใช้น้อยกว่า เพียง 1.35 เท่าจากเกณฑ์ TCH ส่วนเรี่องการรักษาระดับหลักประกัน ไม่มีเกณฑ์บังคับ

“ตลาดหลักทรัพย์ และก.ล.ต.รวมถึงสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ จะต้องหารือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่บังคับใช้ ไม่ควรให้มีความได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น เพราะทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ค่อย ๆ ถอยออกจากตลาดไปจำนวนมาก เพราะแข่งขันไม่ได้ นอกจากต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นสูงกว่า และเข้าถึงแหล่งข้อมูลยากกว่าแล้ว เกณฑ์ยังเข้มกว่าด้วย หากไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้นักลงุทนรายบุคคลหายไปกว่าตลาด ทำให้ตลาดทุนมีเสนห์ลดลง” แหล่งข่าวกล่าว