TMB กำไร 2.1 พันลบ. เพิ่ม 10% เทียบ Q2 หนี้เสียลดเหลือ 2.52%

HoonSmart.com>> ธนาคารทหารไทย ไตรมาส 3/62 กำไรสุทธิ 2,111 ล้านบาท ลด 62% จากงวดปีก่อน กำไรขายบลจ.ทหารไทย เทียบผลงานไตรมาส 2/62 เติบโต 10% หนี้เสียลดเหลือ 2.52% คงสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียในระดับสูงที่ 140% ด้านรายได้มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

ธนาคารทหารไทย (TMB) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 2,111.18 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.0481 บาท ลดลง 62.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5,594.19 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.1276 บาท

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 5,607.34 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.1279 บาท ลดลง 43.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 9,900.19 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.2258 บาท

อย่างไรก็ตามหากเทียบไตรมาส 2/62 กำไรเพิ่มขึ้น 10% โดยยังคงเน้นเติบโตธุรกิจอย่างมีคุณภาพ และบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ ลดสัดส่วนหนี้เสียลงเหลือ 2.52% และคงสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียในระดับสูงที่ 140%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานมีโมเมนตัมดีขึ้นทุกไตรมาส โดยในไตรมาส 3 นี้ ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 5,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยหนุนหลักมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ซึ่งทีเอ็มบีพยายามอย่างต่อเนื่องในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้า และในไตรมาส 3 ได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันรูปแบบใหม่ ทีเอ็มบี เวลธ์ตี้ ทรี เจนส์ ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์ปรับตัวดีขึ้น

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ยังคงให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ โดยดำเนินการปรับลดสินเชื่อที่มีปัญหาเพื่อเตรียมความพร้อมรับ IFRS9 และเพื่อเสริมฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับดีลการรวมกิจการ จึงทำให้ยังคงเห็นการตั้งสำรองฯ ในเกณฑ์สูง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถลดสัดส่วนหนี้เสียลงเหลือ 2.52% และคงสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียในระดับสูงที่ 140% ได้ตามเป้า หลังจากหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ ดังกล่าว และภาษี กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 6.73 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 3.7% จากสิ้นปีก่อน เป็นการขยายตัวจากทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย โดยเงินฝากลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ยังคงเติบโตได้ดี โดยผลิตภัณฑ์เงินฝากหลัก หรือ Flagship deposit ได้แก่ เงินฝากเพื่อการทำธุรกรรม All Free เงินฝาก No-Fixed และเงินฝากรูปแบบดิจิทัล ME Save by TMB เติบโตได้ดีที่ 5.1%, 2.6% และ 3.0% จากสิ้นปีก่อน ตามลำดับ

สินเชื่อรวมอยู่ที่ 6.94 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% จากสิ้นปีก่อน หนุนโดยสินเชื่อลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งยังคงขยายตัวได้ต่อจากไตรมาสที่แล้ว ส่งผลให้โดยรวม 9 เดือนแรก สินเชื่อรายย่อยขยายตัวได้ที่ 8.6% ซึ่งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ที่ 9.2% สำหรับสินเชื่อลูกค้าธุรกิจปรับตัวลดลง 2.2% เป็นผลมาจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งผลจากการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอี

ในส่วนของรายได้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ 6,206 ล้านบาท ลดลง 2.2% จากไตรมาสก่อน หลังจากธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.2% จากไตรมาสก่อน จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น 3.0% มาอยู่ที่ 1,965 ล้านบาท โดยเฉพาะจากค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์ และค่าธรรมเนียมกองทุนรวมที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งกำไรจากเงินลงทุนที่มีเข้ามา ทำให้รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 10,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3% จากไตรมาสที่แล้ว

ขณะเดียวกันธนาคารยังคงเน้นการดำเนินงานและบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ เป็นจำนวน 5,984 ล้านบาท ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%

ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง เป็นไปตามแผนของธนาคารในการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมรับ IFRS9 และเพื่อเสริมฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ธนาคารปรับลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาอยู่ที่ 2.52% จาก 2.74% ในไตรมาสก่อน และอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอยู่ที่ 140% เป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้

สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ปี 2562 เทียบกับงวดปีก่อน ซึ่งทีเอ็มบีมีรายได้พิเศษจากการขายหุ้น TMBAM 65% ประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท ในงวดปีก่อน จึงต้องหักรายการดังกล่าวออกไปเพื่อเทียบผลการดำเนินงานที่แท้จริง รวมทั้งหักค่าใช้จ่าย one-time ที่เกิดขึ้นในปีนี้ เช่น จ่ายค่าใช้จ่ายสำรองสำหรับพนักงาน (Employee Retirement Benefit) จะพบว่า ผลการดำเนินงานหลักยังคงดีขึ้น รายได้จากการดำเนินงานรวมรอบ 9 เดือน ปี 2562 เพิ่มขึ้น 2.7% ส่วนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3.4% จากรอบ 9 เดือน ปี 2561

SCB ฟาดกำไร 1.48 หมื่นลบ. พุ่ง 40% บุ๊กขายธุรกิจประกัน ตั้งสำรองเพิ่ม

KTC สำรองหนี้ฉุดกำไร Q3/62 หดสวนรายได้เพิ่ม งวด 9 เดือนโต 8%

TISCO กำไร Q3 โต 3.5% สำรองหนี้ลด 9 เดือนโกย 5.4 พันลบ.

LHFG ไตรมาส 3/62 กำไร 766 ลบ. ลด 1.6%