TOP ปรับยุทธศาสตร์ ปักเป้ากำไร 1 พันล้านเหรียญฯ ปี’73

HoonSmart.com>>”วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ซีอีโอใหม่ ไทยออยล์นำทีมผู้บริหาร แถลงข่าว ปรับยุทธ์ศาสตร์ จัดแหล่งที่มาของกำไร-สินทรัพย์ สร้างกำไรสุทธิมั่นคง ตั้งเป้าเพิ่ม 3 เท่า แตะ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐปี 2573 โครงการพลังงานสะอาดเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจากการผลิตอย่างน้อย 4 เหรียญ/บาร์เรลจากเฉลี่ย 5 ปีทำได้ 7 เหรียญ ส่วนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่นร่วงหนัก บล.ทิสโก้-เคทีบี ยังไม่ให้เข้าไปช้อน หาราคาต่ำสุดไม่พบ บล.เอเซียพลัส แนะเก็บ PTT และ PTTEP

 

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังจากเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ย 2562 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีกำไรสุทธิถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 หรือพุ่งขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิ 312 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 พร้อมปรับยุทธศาสตร์เพื่อให้กำไรโตในทุกวัฎจักร จัดพอร์ตแหล่งที่มาของกำไรและสินทรัพย์ใหม่ บางส่วนต้องขายออกไป บางส่วนก็จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สจะถูก disruption

ส่วนการดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่าการลงทุน 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐยังคงเป็นไปตามแผน พร้อมเดินเครื่องผลิตในไตรมาส 1/2566 คาดว่าจะสร้างกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) อย่างน้อยอีก 4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาทำได้ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน

“กำไรเรายังแข็งแรงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าจะเดินต่อไปข้างหน้าอาจจะต้องปรับยุทธศาสตร์ วิชั่นของเราต้องการ ที่จะสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยพลังงานในทิศทางที่ยั่งยืน เราต้องการทำพลังงานและต่อยอดแวลูเชนของไฮโดรคาร์บอน เป็นเคมิคอล  ยุทธศาสตร์ไทยออยล์ยังคงเป็น world class refinery พร้อมกับมีธุรกิจปิโตรเคมีที่หลากหลาย”นายวิรัตน์กล่าว

สำหรับโครงการพลังงานสะอาดเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน ผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานได้เพิ่มขึ้น และได้ผลพลอยได้ คือ แนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะใช้ในธุรกิจปิโตรเคมี  2.2 ล้านตัน/ปี  โดยไม่มีการผลิตน้ำมันเตาที่มีมูลค่าต่ำออกมา จากปัจจุบันที่มีการผลิตได้ 8-9% และยังสามารถเลือกใช้น้ำมันดิบชนิดหนักที่มีราคาต่ำได้สัดส่วน 50% จากปัจจุบันใช้น้ำมันดิบชนิดเบาที่มีราคาสูงเข้ากลั่นถึง 100% ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบชนิดหนักและเบา มีส่วนต่างกันถึง 7-8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะช่วยหนุนให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นด้วย รวมุคงบริษัทมีแผนจะต่อยอดขยายลงทุนปิโตรเคมี ภายใต้โปรแกรม Beyond CFP เพื่อขยายกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ หรือโอเลฟินส์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตเพียงพาราไซลีน (PX)ประมาณ  5.4 แสนตัน/ปี

บริษัทดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 3 ด้าน ประกอบด้วย Strengthen the Core (ธุรกิจการกลั่นน้ำมันและธุรกิจไฟฟ้า) ในการเพิ่มกำลังการผลิต และอัพเกรดผลิตภัณฑ์ตามโครงการ CFP ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้า และการบริหารสินทรัพย์และการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ, Value Chain Enhancement (ธุรกิจเคมี) ขยายห่วงโซ่การผลิตต่อยอดจากโครงการ CFP ในธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ หรือโอเลฟินส์ ตลอดจนผลิตผลิตภัณฑ์พิเศษมูลค่าสูง และ Seed the Option (ธุรกิจนวัตกรรม) เข้าสู่ธุรกิจใหม่ผ่านทางวิจัยและพัฒนา การร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการผลิต ,เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตและเทคโนโลยีเปลี่ยนธุรกิจปิโตรเลียม ทำให้โครงสร้างกำไรในปี 2573 เปลี่ยนเป็น ธุรกิจปิโตรเลียม 40% ,ปิโตรเคมี 40% ,ไฟฟ้า 15% และอื่น ๆ 5% เทียบกับปัจจุบันที่มีสัดส่วนกำไร จากธุรกิจกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 60% , อะโรเมติกส์และน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน 23% ,ไฟฟ้า 12% และอื่น ๆ 5%

นายวิรัตน์กล่าวถึงแผนการใช้เงินลงทุนในช่วง 5 ปี (2562-2566) บริษัทวางแผนไว้ประมาณ 4,834 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประมาณ 60% จะใช้ในปีนี้และปีหน้าในโครงการ CFP คือ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปีต่อ ๆ ไป จะทยอยใช้ประมาณ 600-700 เหรียญสหรัฐ/ปี สำหรับการจัดหาเงินทุนประกอบกับเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคต และการจัดหาเงินผ่านการกู้ยืม และหรือออกหุ้นกู้เพิ่มเติมโดยพิจารณาตามสภาวะตลาดตราสารหนี้ที่เหมาะสม

นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี TOP กล่าวว่า แหล่งเงินลงทุน 4,834 ล้านเหรียญสหรัฐ จะมาจากเงินกู้ในสัดส่วน 50% และกระแสเงินสดของบริษัท 50% ปัจจุบันมีเงินสดอยู่ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาแต่ละปีราว 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ขณะที่จัดหาเงินกู้ผ่านการออกหุ้นกู้และกู้เงินมาแล้วบางส่วนคงเหลืออีกเพียง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ  คงต้องรอดูความเหมาะสมต่อไป ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับ 0 แม้ว่าจะมีการเบิกใช้เงินกู้ทั้งหมดเพื่อดำเนินโครงการ CFP คาดว่าในปี 2565 จะมี D/E ประมาณ 0.8 เท่าเท่านั้น

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานน่าจะเห็นการปรับตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ไปจนถึงปีหน้า จากค่าการกลั่นที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากฤดูกาลท่องเที่ยวและเข้าสู่ฤดูหนาว รวมถึงการใช้เกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จาก 3.5% มีผลตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นไป

นายฉัตรฐาพงศ์ วังธนากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการพาณิชย์องค์กร ของ TOP กล่าวว่า ในช่วงนี้ค่าการกลั่นปรับตัวลงแรง  ได้รับแรงกดดันจากค่าขนส่งทางเรือที่พุ่งขึ้น หลังจากสหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทในเครือของ COSCO ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ใหญ่ที่สุดของจีน บริษัทยังมั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาด เนื่องจากมีเรือขนส่งน้ำมันดิบด้วยตัวเอง 4 ลำ โดย 3 ลำกำหนดราคาค่าขนส่งคงที่แล้ว

ส่วนสถานการณ์ตลาดในช่วงไตรมาส 4 คาดราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในช่วง 56-61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อ่อนตัวลงจากไตรมาส 3 จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ,ค่าการกลั่น มีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงหนุนความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและอากาศยานที่สูงขึ้นและฝั่งอุปทานมีจำกัด ส่วนทิศทางตลาดสารพาราไซลีน คาดว่ายังคงอ่อนตัวต่อเนื่องจากอุปทานขึ้นใหม่ในจีนตั้งแต่ไตรมาส 2 และอุปทานที่จะเปิดใหม่ในไตรมาส 4 ทำให้อุปทานล้นตลาดต่อเนื่อง

แนวโน้มในปี 2563 คาดราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในช่วง 58-63 เหรียญสหรัฐ  ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 แม้อุปสงค์น้ำมันจะเติบโต 1.0-1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่อุปทานเพิ่มขึ้นจากสหรัฐและยุโรป 1.3 และ 0.4 ล้านบาร์เรล/วัน  ส่วนธุรกิจกลั่นน้ำมันมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเกณฑ์ใหม่ IMO และตลาดพาราไซลีน ยังอ่อนตัวต่อเนื่อง จากอุปทานที่ล้นตลาดต่อเนื่องจากปีนี้ ขณะที่จะมีอุปทานใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลาง เข้ามาเพิ่มขึ้น 7.9 ล้านตัน/ปี มากกว่าอุปสงค์ที่เติบโต ประมาณ 1.7 ล้านตัน/ปี

ทางด้านราคาหุ้นโรงกลั่นและปิโตรเคมีปรับตัวลงแรง เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2562  นายอภิชาต ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ , นาย มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี และ นาย ชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส มีความคิดเห็นตรงกันว่า ราคาหุ้นพลังงานและปิโตรเคมี ปรับตัวลงมาจากความกังวลค่าการกลั่นระยะสั้นที่ผันผวน สาเหตุหลักมาจากโรงกลั่นได้รับผลกระทบค่าเดินเรือสูง โดยนาย อภิชาต จากบล.ทิสโก้ ผู้และนายมงคล ของบล.เคทีบี แนะนำว่า ช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน เนื่องจากยังหาจุดต่ำสุดของราคาไม่ได้ ขณะที่นายชาญชัย จากบล.เอเซีย พลัส แนะนำการลงทุนหุ้น PTT,PTTEP เนื่องจากมีการขยายตลาด ให้มูลค่าหุ้นปตท.อยู่ที่ 53 บาท สูงกว่าราคาปัจจุบัน 19.77% และ PTTEP มูลค่าเหมาะสมอยู่ที่ 166 บาท สูงกว่าราคาในตลาด 42%