คอลัมน์ KTAM Focus : ก่อการดี

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

Environmental, Social and Governance (ESG) เริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงการลงทุนตั้งแต่ปี 2004 เมื่อนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติขณะนั้น ร่อนจดหมายถึงผู้บริหารสูงสุดของบรรดาสถาบันการเงินชั้นนำของโลก เชื้อเชิญให้ริเริ่มพัฒนาแนวทางบูรณาการประเด็นเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เข้าไปในธุรกิจจัดการลงทุน บริการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนหน้าที่ต่างๆในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

กว่า 15 ปีผ่านไป ESG ได้เลื่อนชั้นจาก “ปัจจัยไม้ประดับ” ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ในการตัดสินใจของบรรดาผู้จัดการกองทุน และนักลงทุนสถาบันทั่วโลก นอกจากนี้ ผลสำรวจเมื่อช่วงต้นปีโดย Morgan Stanley เปิดเผยว่า 85% ของนักลงทุนบุคคลในสหรัฐฯ ให้ความสนใจใน “การลงทุนที่ยั่งยืน” (sustainable investing) ทว่าหากเจาะเฉพาะกลุ่ม Millennials (เกิดในช่วงปี 1981-1996) สัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 95% เรียกได้ว่า ESG เป็น #ของมันต้องมี ถ้าคิดจะลงทุน!

คำถามคาใจนักลงทุนตั้งแต่โบราณมา… “การลงทุนโดยใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำให้กำไรน้อยลงหรือเปล่า?”

ผลการวิเคราะห์ 10,723 กองทุน จากข้อมูลของ Morningstar ในช่วงปี 2004-2018 โดย Morgan Stanley พบว่า
1) ผลตอบแทนรวมแทบไม่แตกต่างกัน ระหว่าง กองทุนที่เน้นความยั่งยืน (ESG) และ กองทุนแบบดั้งเดิมทั่วๆไป
2) กองทุน ESG มักปรับตัวลงน้อยกว่า โดย “ความเบี่ยงเบนขาลง” (downside deviation) น้อยกว่ากองทุนดั้งเดิม 20%

ปีที่ตลาดผันผวนมาก: 2008, 2009, 2015, 2018 กองทุน ESG ปรับตัวลงน้อยกว่ากองทุนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ!

บริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG มักสร้างผลการดำเนินงานที่เหนือกว่าในระยะยาว ทั้งการเติบโตของยอดขาย ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ผลตอบแทนจากเงินลงทุนของกิจการ (ROIC) และผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าดัชนี (alpha) เนื่องจากองค์กรที่ใส่ใจ “ผู้มีส่วนได้เสีย” (stakeholders) อย่างรอบด้านทั้ง ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ สังคม และ โลก โดยนำ ESG เข้าไปพิจารณาประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของกิจการในระยะยาวนั้น สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ สร้างฐานลูกค้าที่มีความภักดีในตราสินค้า (brand loyalty) ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นได้รับการปกป้องภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ช่วยลดความเสี่ยง และสร้างผลกำไรจากการลงทุนในนวัตกรรมที่มีความยั่งยืน บนแนวทางที่ได้รับการสนับสนุนเพราะเป็นประโยชน์แก่โลก

Emerging Markets “ตลาดเกิดใหม่” เปิดโอกาสลงทุนที่ “สดใหม่” ในกองทุน ESG เพราะเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ภายใต้การบริหารแบบเน้น “ความยั่งยืน” ในสหรัฐฯซึ่งมีสัดส่วนสูงทะลุ 1 ใน 4 ของกองทุนทั้งตลาดแล้ว แนวโน้มใหญ่ระดับ Mega Trend อย่าง ESG ใน Emerging Markets ดูเหมือนยังอยู่แค่ “เช้าตรู่” ของวันใหม่…ช่วงใกล้เริ่มต้น “ก่อการดี” เท่านั้น!!!

ESG เพิ่งเริ่ม “บูม” ที่ Emerging Markets ในช่วง 3 ปีหลัง และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าสินทรัพย์ในกองทุน ESG ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งตลาดเกิดใหม่ จึงยังมี “เงินใหม่” ปริมาณมหาศาลที่จะเข้ามาลงทุนแบบเน้นความยั่งยืน เพิ่มความต้องการซื้อหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ ส่งผลดีแก่ผู้ที่ลงทุนในกองทุน ESG เดี๋ยวนี้!!!

KTAM Emerging Markets Equity (KT-EMEQ) กองทุนหลักเน้นลงทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่โดยใช้ ESG เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือกหลักทรัพย์ นอกจากนี้ เรากำลังจะ “ก่อการดี” ด้วย ESG อีกครั้ง…อย่างไร? อีกไม่นานเกินรอ!

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน