แน่งน้อยร้อยเรื่องลงทุน : ก.ล.ต.เตือนภัย “หุ้นกู้กลุ่มเสี่ยง” รับมือผลกระทบ

HoonSmart.com>>สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ออกมาเตือน(อีกครั้ง) ให้นักลงทุนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ จะต้องระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้ โดยเฉพาะ”หุ้นกู้กลุ่มเสี่ยง” ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีสัญญาณเตือนภัย นักลงทุนควรจะฟังไว้บ้าง พร้อมปรับตัวก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้น 

ก.ล.ต.เคยเตือนเรื่องนี้มาแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์ตราสารหนี้ (อีกครั้ง) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับและคุ้มครองนักลงทุน แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้รับผลเท่าที่ควร

จึงต้องออกมาย้ำอีกรอบ  อาจจะมีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทำให้บริษัทที่กำลังเปิดขาย เหนื่อย! หรือบริษัทที่คิดจะออก ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น จนอาจจะทำให้แผนการเงินผิดพลาดไปจากที่วางไว้  ดังนั้นจึงควรคิดทางหนีที่ไล่เตรียมไว้บ้าง ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่อาจจะคาดไม่ถึงขึ้นมา

ในช่วงนี้ยังมีบริษัทหลายแห่งเปิดขายหุ้นกู้ และส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต หรือไม่มีเรทติ้ง แถมยังให้ดอกเบี้ยสูงมาก วัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อหมุนเงิน นำไปใช้หนี้แบงก์ หรือหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนด โดยขายให้กับนักลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น  เข้าข่ายความหมาย “หุ้นกู้กลุ่มเสี่ยง”ของก.ล.ต.

ก.ล.ต.ต้องออกมาเตือน ก่อนที่ภัยจะมาถึงตัว คงเพราะไม่สามารถรอเวลาในการเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปปรับปรุงหลักเกณฑ์  เมื่อเห็นข้อมูลที่น่าตกใจ

ในปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มีหุ้นกู้ระยะยาวที่ไม่มีการจัดเรทติ้งออกมาขายถึง 54,000 ล้านบาท เติบโต 92% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และบริษัทที่ออกส่วนใหญ่เกือบ 70% เป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ที่มีข้อจำกัดด้านข้อมูล เช่นฐานะการเงินเพียงงบรายปีเท่านั้น ฐานะการเงินอาจเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่นักลงทุนไม่รู้ เพราะจะไม่มีการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตตลอดช่วงอายุหุ้นกู้จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ จากการติดตามฐานะของผู้ออกตราสาร พบว่าครึ่งหนึ่งมีฐานะทางการเงินที่ลดลง และมูลค่ากว่าครึ่งออกโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์  ในกรณีที่มีการค้ำประกัน ก็มักเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือมีหลักประกันเป็นที่ดิน อาคาร ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องและมีข้อจำกัดด้านการประเมินราคา ถ้าผู้ออกผิดนัดชำระหนี้ การได้รับเงินคืนอาจขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน หรือการบังคับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง ซึ่งต้องใช้เวลานาน หรือไม่ได้ชำระเงินคืน

เชื่อว่านักลงทุนที่ลงทุนหุ้นกู้อยู่แล้ว หรือกำลังคิดจะซื้อ ส่วนใหญ่ไม่เคยศึกษาข้อมูลของบริษัทที่ออกเลย

ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว และบางธุรกิจตกต่ำ ยิ่งต้องคิดให้รอบคอบ อย่ามัวแต่ดูแค่ดอกเบี้ยสูงๆ เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว

หากไม่ทราบว่าจะดูข้อมูลอะไรบ้าง สามารถนำตัวอย่างของบริษัทไทยออยล์ (TOP) มาปรับใช้ได้ในการพิจารณาการลงทุน

ไทยออยล์ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ มูลค่า 565  ล้านเหรียญสหรัฐ   ให้กับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ  ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก 3.50% ต่อปี สำหรับหุ้นกู้ที่มีอายุ 30 ปี โดยมีความต้องการซื้อล้นกว่า 6 เท่า หลังจากใช้เวลาในการโรดโชว์ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ ขายเพียง 2 วันเท่านั้น

หุ้นกู้ของไทยออยล์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำต่างประเทศ เพราะ TOP มีอันดับเครดิตเท่ากับประเทศ โดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (S&P) และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่ระดับ BBB+ และ Baa1 ตามลำดับ และมีการนำเสนอข้อมูลการลงทุนขนาดใหญ่โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ในการเพิ่มกำลังการผลิตและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ สามารถต่อยอดและสร้างกำไรเติบโตมากในระยะยาว

ถึงเวลาแล้วที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเรทติ้ง และธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว ..