PACE จ่อเข้าฟื้นฟูกิจการ ขาใหญ่-SCB เจ็บหนักเพิ่มทุนแพง

HoonSmart.com>>บริษัท  เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) มาเจอทางตันจนได้ หลังจากยื้อวิกฤตหนี้มานาน และแล้วในที่สุด เจ้าหนี้รายใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ส่งหนังสือแจ้งผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 2,645.12 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ตค.2562 ทำให้หุ้นกู้ที่เหลืออยู่ 1 รุ่น มูลค่า 1,219 ล้านบาทผิดนัดชำระหนี้โดยอัตโนมัติตาม

แม้ว่า บริษัทยังไม่อยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 ยังมีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 1.4 หมื่นล้านบาทก็ตาม แต่ทางออกของปัญหาครั้งใหญ่นี้ค่อนข้างมืดมน เพราะ“เครดิต” ถูกตัดขาดสะบั้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศให้หนี้ PACE เป็นเอ็นพีแอลแล้ว ตามหลักเกณฑ์ห้ามให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น

ส่วนการออกหุ้นกู้ถูกปิดประตูไปแล้วเช่นกัน หลังจากแผนการขายหุ้นกู้มีหลักประกันของบริษัทลูก ดีน แอนด์ เดลูก้า มูลค่า 2 ,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7% ต่อปี แท้งไปแล้ว

บริษัทยังมีปัญหาที่รอการแก้ไขอีกมาก ลูกค้าที่ซื้อห้องชุด มาขอเงินคืน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะมีข่าวผิดนัดชำระหนี้เสียอีก เพราะบริษัทขาดสภาพคล่อง หยุดการก่อสร้างมานาน

นอกจากนี้ผลการดำเนินงานที่ประสบปัญหาขาดทุนมานาน โดยเฉพาะเมื่อปี 2561 มากกว่า 5,155 ล้านบาท และครึ่งปีนี้ขาดทุนอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดฮวบ เหลือเพียง 255 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 ขณะนี้ต้องรอตัวเลขไตรมาส 3 /2562 ออกมา หากขาดทุนจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ เป็นเหตุทำให้หุ้นอาจถูกเพิกถอน ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แนวทางออกที่เป็นไปได้ เบื้องต้น บริษัทต้องมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้หุ้นกู้ ไม่มีเรทติ้ง ไม่มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิ และไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2560 มูลค่า 1,219 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 23 ก.พ. 2563 คงต้องแถมดอกเบี้ยพิเศษให้สำหรับการยืดหนี้ออกไป

ปัญหาหนักอก อยู่ตรงหนี้ 2,645 ล้านบาท แบงก์ไทยพาณิชย์ขีดเส้นตายต้องชำระคืนภายในวันที่ 4 พ.ย.นี้  และเจ้าหนี้รายอื่นๆที่จะตามมาอีกเพียบ

บริษัทจะทำอย่างไร? เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเสียหายน้อยที่สุด

แต่ที่แน่ๆ ผู้ถือหุ้นสามัญบาดเจ็บไปมากแล้ว เนื่องจากในช่วง 1-2 ปี บริษัทมีการออกหุ้นใหม่ จำนวน 11,700 ล้านหุ้น ได้เงินเพิ่มทุนมาประมาณ 5,313 ล้านบาท มาจากการขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 2 ครั้ง และขายนักลงทุนกลุ่มเฉพาะเจาะจง(พีพี) อีก 3 ครั้ง มีการแถม PACE-W ดึงดูด

เริ่มจากเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์สร้างความฮือฮา สวมบทบาทนักลงทุน นำซื้อหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 400 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 0.51 บาท บริษัทได้เงินมาจำนวน 203 ล้านบาท เรียกแขกให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามซื้อหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 7,516 ล้านหุ้น สูตร 1 ต่อ 2 ราคาหุ้นละ 0.50 บาท ชำระเงินวันที่ 9 ม.ค.-14 ก.พ. ได้เงินมามากถึง 3,687 ล้านบาท

หลังจากนั้นประมาณปลายเดือนส.ค. 2561 Asia Alpha Equity Fund 2 ของกลุ่มเจียรวนนท์ ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 500 ล้านหุ้น ราคา 0.59 บาท/หุ้น แลกกับการเข้าทำสัญญาให้สิทธิแฟรนไชส์ดีน แอนด์ เดลูก้า แต่เพียงผู้เดียวให้แก่ Kinghill ในสาธารณรัฐประชาชนจีน

บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ของชาญ บูลกุล ที่ปรึกษาทางการเงิน ก็กระโดดเข้ามาช่วยเพิ่มทุน รอบนี้ได้พานักลงทุนรายใหญ่ใส่เงินเข้ามาด้วย รวมจำนวน 950 ล้านหุ้น ราคา 0.58 บาท เป็นเงิน 551 ล้านบาท คิดเป็นการถือหุ้นสัดส่วน 10% และเมื่อเดือนก.ค.-ส.ค.ได้เพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 2,334 ล้านหุ้น ราคาเพียง 0.25 บาท/หุ้น ได้เงินมาอีก 583 ล้านบาท

การเพิ่มทุนครั้งหลังสุด บริษัทลุ้นระทึก  ประกาศเลื่อนวันชำระเงินถึง 3 ครั้ง เพราะราคาในตลาดไหลลงมาอยู่ต่ำกว่าเพิ่มทุน จึงต้องเปิดเวลาให้นักลงทุนตัดสินใจชำระเงินนานกว่า 1 เดือน แต่ในที่สุด ก็ระดมเงินมาได้มากกว่า 500 ล้านบาท มีเงินมาหมุนชั่วคราว

ผู้ถือหุ้นเดิมที่ใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามารอบสุดท้าย ได้แก่ สรพจน์ เตชะไกรศรี ในฐานะผู้บริหารและถือหุ้นใหญ่สุด 38.90% พี่ใหญ่แห่งโค้วยูฮะ “จิรวุฒิ คุวานันท์” ถือหุ้น 2.51% และ บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป ส่วนผู้ถือหุ้นบางคน เห็นอาการแล้ว ไม่ใส่เงินเพิ่มดีกว่า  เช่น เสี่ยยักษ์- วิชัย วชิรพงศ์ พี่ขุน-ชนะชัย ลีนะบรรจง

ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ใส่เพิ่มทุนตามสิทธิ  และยังลดการถือหุ้นลงเหลือประมาณ 370 ล้านหุ้น หากเปรียบเทียบต้นทุนหุ้นที่ซื้อมา 0.51 บาท กับราคาในตลาดปิดที่ 0.07 บาท สรุป SCB ขาดทุนจากการลงทุนหุ้น PACE มากถึง 162.80 บาท 

ก่อนหน้านี้ “สรพจน์ เตชะไกรศรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE เปิดเผยแนวทางแก้ปัญหา บริษัท ฯ ร่วมมือกับธนาคารในการทำแผนปรับโครงสร้างทางการเงิน   หากบริหารจัดการหนี้สำเร็จ  จะเดินหน้าก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้แล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าได้ มั่นใจไม่กระทบธุรกิจ ดีน แอนด์ เดลูก้า ซึ่งทำรายได้และกำไรต่อเนื่อง มั่นคง

อย่างไรก็ตามตอนนี้ตลาดมองข้ามช็อตว่าการปรับโครงสร้างหนี้คงไม่เพียงพอสำหรับภาระหนี้ที่ PACE แบกไว้ทั้งหมดกว่า 2 หมื่นล้านบาท และกำลังถูกจับตามองว่าจะต้องเดินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลายหรือไม่  ขอให้ช่วยกันภาวนาว่าจะมีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย และจำกัดความเสียหายเฉพาะบริษัท ไม่ลุกลามเป็นโดมิโนไปสู่ตลาดหุ้นกู้หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างที่กังวลกัน!

อ่านประกอบ

PACE โคม่า !!! SCB ขีดเส้น 4 พ.ย.- จ่ายหนี้ 2,645 ล้านบ.