‘กลุ่มซีพี’เปิดกว้างพันธมิตรร่วมทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ดันเข้าตลาดหุ้น-ออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

HoonSmart.com>>กลุ่มกิจการร่วมค้าซีพี ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  แบ่งงานชัดเจน ใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก ส่วนทุนกำลังเจรจาพันธมิตรต่างประเทศ เปิดโอกาสบริษัทร่วมด้วย หวังผลสำเร็จส่งเข้าตลาดหุ้น ออกออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ข่าวดีแต่หุ้นรับเหมากลับร่วงแรง STEC ดิ่ง 8% CK-ITD กอดคอลง 5% 

บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะทาง 220 กม.มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีลงนาม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 เวลา 13.45 น.

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร : CPH) เปิดเผยว่า บริษัทจะเริ่มงานก่อสร้างโดยเร็วภายใน 12 เดือน แต่ไม่เกิน 24 เดือน ซึ่งยอมรับว่าในช่วงดอนเมือง-พญาไท เป็นช่วงก่อสร้างที่ยากที่สุด

ส่วนแหล่งเงินทุน จะใช้เงินกู้สกุลเงินบาทส่วนใหญ่เป็นงานโยธา สัดส่วนลงทุน 65-70% และอีก 30-35% เป็นเงินสกุลดอลลาร์ที่ลงทุนด้านระบบและเทคโนโลยี รวมทั้งจะได้รับเงินสนับสนุนของทั้งรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น ในส่วนทุนมีแนวโน้มจะมีผู้ร่วมทุนเข้ามาเพิ่มเติม กำลังเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นพันธมิตรในประเทศ นอกจากนี้หากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเปิดดำเนินการได้ และเห็นแนวโน้มรายได้ชัดเจน ก็มีแผนจะนำบริษัทร่วมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

“บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด จะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51% ในช่วงระหว่างก่อสร้าง หรือ ภายใน 6 ปีจากนี้ เพราะต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาด และเพื่อทำให้โครงการเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว  ในทีโออาร์กำหนดผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องไม่ต่ำกว่า 40% การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ภาคเอกชนกลัวที่สุดคือความเสี่ยง เงินลงทุนร่วมแสนล้าน และมี consortium อยู่หลายราย ถ้าดำเนินการแล้วขาดทุน ก็จะไม่ใช่แสนล้าน ซึ่งมีการศึกษากันอย่างละเอียด มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้สำเร็จได้ “นายศุภชัยกล่าว

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การนำบริษัทร่วมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นนโยบายของ EEC ว่าเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่จะผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้ขอให้ทางตลาดหลักทรัพย์ส่งทีมมาช่วยดูแลแล้ว

โครงสร้างผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% ที่เหลือเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือ 10% บริษัทช.การช่าง (CK) ถือ 5% บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นต์ (ITD) ถือ 5% และ China Railway Construction Corporation (CRCC)  ถือ 10%  โดยงานโยธาจะมี CK-ITD  ดำเนินการ ส่วนระบบรางรถไฟความเร็วสูงจะเป็น  CRCC ส่วนการดำเนินการเดินรถจะมีบริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie Dellio Stato Intaliane S.P.A.)

ด้านตลาดหุ้นที่รูดลง 10 จุด หรือ 0.64% แต่หุ้นรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่กลับปักหัวลงมากกว่า นำโดย STEC  ถลาลง 8% ส่วน CK และ ITD ติดลบมากกว่า 5%