FETCO เผยผลสำรวจนักลงทุนชอบ”หุ้นท่องเที่ยว” สูงสุด -เมิน “กลุ่มแบงก์”

HoonSmart.com>> “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ลงทุน 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวต่อเนื่องเดือนที่ 3 กังวลสงครามการค้ากดดัน ผลประกอบการบจ.ชะลอตัว นักลงทุนคาดหวังเฟดปรับลดดอกเบี้ยและเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ชูหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการน่าลงทุนมากสุด ส่วนแบงก์ไม่น่าลงทุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนพ.ย.2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง 22.56% มาอยู่ที่ระดับ 86.44 (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด และคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

“ผลสำรวจ ณ เดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวจากเกณฑ์ร้อนแรงในเดือนก่อน กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงแต่อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม”นายไพบูลย์ กล่าว

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)

สำหรับทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือความคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอีก 0.25% รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการไหลเข้าออกของเงินทุน ขณะที่นักลงทุนเฝ้าติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ว่ามีความผ่อนคลายมากขึ้นและสหรัฐระงับการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วน ยังคงเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง

ขณะที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงถดถอย ทิศทางนโยบายการการเงินของสหรัฐและยูโร ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แนวโน้มการพิจารณา BREXIT ที่คาดว่าขยายระยะเวลาออกไปม.ค.ปีหน้า ทิศทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และนโยบายด้านการคลังของจีนเพื่อผ่อนคลายภาวะเศรษฐกิจจากสงครามทางการค้า ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และทิศทางมาตรการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบจากการประกาศยกเลิกสิทธิ GSP บางส่วนของสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม

น.ส.ศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนพ.ย.2562 ว่า ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่จะปรับลดลงจากระดับ 1.50% ในการประชุม กนง. รอบเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีในอีก 8 สัปดาห์ข้างหน้ามีแนวโน้มลดลงจากระดับ 1.41% ณ วันที่สำรวจ (21 ต.ค. 62) เนื่องจากคาดการณ์ว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลงและ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีในอีก 8 สัปดาห์ข้างหน้า น่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับระดับ 1.56% ณ วันที่สำรวจ (21 ต.ค. 62) เป็นผลมาจากอุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ทรงตัว ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง