หุ้นปิโตร-อิเล็กทรอนิกส์เด่น IVL-KCE ตั้งหลักวิ่งฝ่าโลกสงบ

HoonSmart.com>>ข่าวจีน-สหรัฐใกล้ลงตัวข้อตกลงทางการค้าเฟสแรก สถาบันแห่ซื้อกว่า 3,000 ล้านบาท จุดพลุไล่ซื้อหุ้นพลังงาน โรงกลั่น ปิโตรเคมี  อิเล็กทรอนิกส์ ที่บาดเจ็บหนักจากสงครามการค้า  เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายต้องรีบซื้อกลับ พุ่งเป้า IVL ราคาลงลึกหายไปกว่า 50% KCE เหลือ 1 ใน 3 จากราคาสูงสุด ส่วน PTTGC แจ้งกำไรเพิ่ม 21% จากไตรมาส 2   แต่หายไป 79 % จากไตรมาส 3/61 

ตลาดหุ้นวันที่ 7 พ.ย. ดัชนีวิ่งแรงปิดบวก 16.89 จุด หรือ 1.04% ที่ระดับ 1,640.88 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 59,054 ล้านบาท เกิดจากแรงซื้อของสถาบันไทยกว่า 3,357 ล้านบาท รายย่อยถือโอกาสทำกำไรถึง 3,665 ล้านบาท ต่างชาติขายเล็กน้อย 3281 ล้านบาท

มาร์เก็ตติงกล่าวว่า ตลาดหุ้นที่ขึ้นมาร้อนแรงเกิดขึ้นในภาคบ่าย จากแรงไล่ซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน โรงกลั่น ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ ตามดาวโจนส์ล่วงหน้าบวกมา 150 จุด หลังมีข่าวว่าจีนเห็นด้วยกับสหรัฐฯ ที่จะระงับขึ้นเก็บภาษีสินค้าบางส่วน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางการค้าเฟสแรก จากช่วงเช้าดัชนีปรับตัวลงเล็กน้อย ตามความกังวลหลังมีการเลื่อนการลงนามในเดือนธ.ค.2562

 

“แรงซื้อหุ้นปิโตรเคมีและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามาก เพราะที่ผ่านมาราคาปรับตัวลงไปลึกมาก ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากสงครามการค้า ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าหดตัวลงตามเศรษฐกิจ และราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัว ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเหล่านี้  เมื่อสหรัฐและจีนทำท่าว่าจะคุยกันลงตัว ก็ต้องรีบซื้อหุ้นกลับ ราคาแถวนี้ยังน่าสนใจ  เช่น IVL ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดเกือบ 60 บาท ลงไปต่ำสุดแถว 25 บาทหรือมากกว่า 50% เพิ่งไล่ขึ้นมาแถว 33 บาท ส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดนหนักถ้วนหนัก เช่น KCE ราคาเหลือประมาณ 1 ใน 3 แม้ว่าราคาขยับขึ้นมาพอสมควรแถว 16 บาท แต่ยังห่างจากจุดสูงสุด จึงเป็นโอกาสในการถือลงทุนต่อไป “มาร์เก็ตติงกล่าว

ในวันเดียวกัน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3/2562 มีกำไรสุทธิเพียง 2,663 ล้านบาท ลดลงจำนวน 10,129 ล้านบาทคิดเป็นประมาณ 79% จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 12,792 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 21%จากไตรมาส 2  โดยมีรายได้จากการขาย 105,154 ล้านบาท ลดลง 1% จากไตรมาส 2/2562 และลดลง 23% จากไตรมาส 3/2561

ส่วนผลงานรวม 9 เดือนปีนี้กำไรสุทธิ 11,308 ล้านบาท ลดลงจำนวน 24,700 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 69% เทียบกับกำไรที่ทำได้จำนวน 36,008 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน

กำไรที่ดีขึ้นจากไตรมาส 2 เกิดจากปริมาณการขายที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธรุกิจอะโรเมติกส์ที่เสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงอะโรเมติกส์หน่วยที่ 1 และส่วนต่างของผลิตภัณฑ์โรงกลั่นและส่วนต่างของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์สูงขึ้น

อย่างไรก็ตามรวม 9 เดือนกำไรลดลง 69% เป็นผลจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากผลกระทบของสงครามการค้าเป็นหลัก สำหรับส่วนต่างของผลิตภัณฑ์โรงกลั่นเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล-น้ำมันดิบดูไบ เป็นผลจากมาตรการการลดการใช้น้ำมันเตากำมะถันสูงในธุรกจิเดินเรือตามนโยบายของ International Marine Organization (IMO) และส่วนต่างของน้ำมันเตา-น้ำมันดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมีค่าการกลั่น (GRM) เพิ่มขึ้นจาก 3.46 เหรียญสหรฐัฯ ต่อบาร์เรล ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 4.40 เหรียญสหรฐัฯ ขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์ ส่วนต่างผลิตภัณฑ์เบนซีนกับคอนเดนเสทดีขึ้นจากความต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปลี่ยน Catalyst ในไตรมาส 2 ทำให้ได้ผลผลิตพาราไซลีนมากขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้น หรือ Product to Feed margin (P2F) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 136 เหรียญสหรัฐต่อตัน จาก 75เหรียญต่อตันในไตรมาสก่อน หรือเพิ่มขึ้น 83%

สำหรับธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ราคาผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลตัวของเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มลดลงตลอดไตรมาส ส่งผลให้ Adjusted EBITDA margin ของธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงมาอยู่ที่ 15 %ทำให้ Adjusted EBITDA ของบริษัทฯ ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 7,441ล้านบาท ลดลง 2% จากไตรมาส 2/2562 และลดลง 56% จากไตรมาส 3/2561 ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนมาอยู่ที่ 1,173 ล้านบาท ลดลง 9% จากไตรมาส 2/2562

ทั้งนี้ในไตรมาส 3 บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 436 ล้านบาท จากค่าเงินบาทแข็ง แต่รับรู้ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและการกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงคลังให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับขาดทุนรวม 372 ล้านบาท