AMATAเพิ่มงบลงทุนรับอีอีซีปีนี้ 3-5 พันล้าน

AMATA ทุ่มงบลงทุนพัฒนาและซื้อที่ดินเป็น 3-5 พันล้านบาท รองรับการลงทุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี เล็งปรับเพิ่มราคาขายที่ดินให้สอดคล้องกับความต้องการที่ดินที่เพิ่มมากขึ้น

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับเพิ่มงบลงทุนในปีนี้จากเดิม 2,000 ล้านบาท เป็น 3,000-5,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และจัดซื้อดินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิม เพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หลังพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) มีผลบังคับใช้กลางเดือนพ.ค.

“เงินลงทุน 3,000-5,000 บาท แบ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 50% โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ 5 อุตสาหกรรม จาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอากาศยาน อี-โลจีสติกส์ และอุตสาหกรรมโรบอท ที่เหลือเป็นการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงกับนิคมฯเดิมเพื่อจัดรูปที่ดินให้สวย ก่อนขายหรือให้เช่าระยะยาว”นายวิบูลย์กล่าว

วิบูลย์ กรมดิษฐ์

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาลงทุนพัฒนาและซื้อที่ดิน ยืนยันว่าบริษัทมีแหล่งเงินพอ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากหุ้นกู้ที่ยังขายไม่หมด 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากสภาพคล่องและเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งในส่วนเงินกู้จากธนาคารนั้น บริษัทฯจะกู้เฉพาะแหล่งเงินกู้ที่มีเงื่อนไขดี เช่น ดอกเบี้ยไม่เกิน 2.8% ในขณะที่หนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ที่ 1.1 เท่า

นายวิบูลย์ กล่าวว่า AMATA ยังคงตั้งเป้าขายหรือให้เช่าที่ดินปีนี้เท่าเดิม 925 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินในนิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี 200 ไร่ นิคมฯอมตะ ซิตี้ ระยอง 450 ไร่ ที่ดินนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน 150 ไร่ และที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่เวียดนาม 125 ไร่ โดยเฉพาะการขายหรือให้เช่าที่ดินในนิคมฯที่ประเทศไทยนั้น ทาง AMATA เตรียมปรับเพิ่มราคาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่ดินที่ในพื้นที่อีอีซีที่เพิ่มมากขึ้น โดยในเร็วๆนี้จะมีการเสนอให้บอร์ดพิจารณาว่าจะปรับราคาในอัตราเท่าใด

นายวิบูลย์ มั่นใจว่า รายได้ของบริษัทปีนี้จะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น หลังจากปรับตัวลดลง 4 ปีต่อเนื่องจาก 7,603 ล้านบาทในปี 2557 เหลือ 4,652 ล้านบาทในปี 2560 และเมื่อมีการเลือกตั้งในปีหน้าสถานการณ์รายได้ของบริษัทจะดีขึ้นกว่านี้มาก โดยบริษัทคาดว่ารายได้ประจำ (Recurring income) เช่น รายได้จากขายไฟฟ้า น้ำประปา และรายได้ค่าเช่าโรงงาน จะเติบโตต่อเนื่องและมีสัดส่วนสูงกว่า 50% เมื่อเทียบกับรายได้จากการขายที่ดิน (Land Sales)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ทาง AMATA ไม่ได้คาดหวังมากกับรายได้จากการขายที่ดิน โดยล่าสุดสามารถขายที่ดินไปแล้วประมาณ 100 ไร่ แต่มั่นใจว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 จะขายที่ดินได้ตามเป้าหมาย เพราะการขายที่ดินในนิคมฯจะเป็นไปตามวัฏจักร โดยจะขายได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี

“การที่พ.ร.บ.อีอีซี กำหนดให้นักลงทุนเช่าที่ดินได้นาน 99 ปี เป็นการเปิดเงื่อนไขและทางเลือกในการจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากสหรัฐ ยุโรปที่ชอบวิธีการเช่าที่ดิน เพราะทำให้งบดุลสวย หรือแม้แต่นักลงทุนจีนเองก็ชอบวิธีการเช่าที่ดินเหมือนกัน ต่างจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่ต้องการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนั้น ไม่ว่าจะมาซื้อหรือมาเช่าเรารับทั้งหมด โดยปีนี้มั่นใจว่าเราขายที่ดินได้ตามเป้าแน่นอน”นายวิบูลย์กล่าว

ปัจจุบัน AMATA มีที่ดินที่พัฒนาแล้วและรอการพัฒนาเพื่อขายในนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ไม่รวมนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ทั้งสิ้น 10,570 ไร่ ประกอบด้วย นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี มีพื้นที่ 7,515 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินที่พัฒนาแล้ว 625 ไร่ ซึ่งจะขายหมดใน 1-2 ปี และที่ดินที่รอการพัฒนาอีก 6,886 ไร่ ซึ่งเพียงพอจะขายหรือให้เช่าได้เป็น 10 ปี ส่วนที่นิคมฯอมตะ ซิตี้ ระยอง มีพื้นที่ 3,055 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินที่พัฒนาแล้ว 2,240 ไร่ และที่ดินที่รอการพัฒนา 815 ไร่

นายวิบูลย์ ระบุว่า ในช่วงสิ้นปี 2561 ทาง AMATA จะมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเพิ่มเป็น 10 โรง และมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของ 9% หรือ 260 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด 1,400 เมกะวัตต์ โดยไตรมาสแรกปีนี้ AMATA รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า 184 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อโรงไฟฟ้าอีก 2 โรงเริ่มเดินเครื่องในเดือนมิ.ย.และต.ค.ปีนี้ ในขณะที่รายได้จากการบริการ ค่าเช่า และรายได้จากค่าน้ำประปา เพิ่มขึ้นต่อเนื่องปีละประมาณ 10%