IRPC ปรับยุทธ์ศาสตร์ธุรกิจ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บาลานซ์ปิโตรฯ ขาลง

HoonSmart.com>>IRPC  จัดทัพธุรกิจชูกลยุทธ์ “ Customer Centric “  ใช้นวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ลุยหาพันธมิตรทั้งใน-นอกประเทศ ต่อยอดธุรกิจ สร้างความบาลานซ์ให้กับธุรกิจ ลดความผันผวนของปิโตรเคมีขาลง  มั่นใจไตรมาส 4 ไม่น่าขาดทุนสต็อกน้ำมัน เหตุราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้ 61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มองปี 63 เฉลี่ย 65 ดอลลาร์สหรัฐ 

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC)  แถลงแผนธุรกิจ ว่า บริษัทฯ  มุ่งกลยุทธ์ ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง  (Customer Centric)  โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับพอร์ตรายได้และสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ  และลดความผันผวนของธุรกิจปิโตรเคมีขาลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ถือเป็นปีที่ยากลำบากของปิโตรเคมี

คาดว่าไตรมาส 4 ปิโตรเคมี จะมีมาร์จิ้นดีขึ้น (กำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดหรือ GIM)    หากราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับนี้ 61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือสูงไม่มากไปถึงต้นปี 2563  ซึ่งไตรมาส 2 GIM อยู่ที่ 9.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มเป็น 10.2 เหรียญสหรัฐในไตรมาส 3

กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า การใช้นวัตกรรมช่วยตอบโจทย์ลูกค้า ได้สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์  วางเป้าหมาย การขายน้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5 % ตามมาตรฐาน IMO ในประเทศจำนวน 65% และส่งออก35% โดยปัจจุบันสามารถผลิตได้ 52,000 ตัน/เดือน จากกำลังการผลิต 6 หมื่นตัน/เดือน ขณะที่ตลาดมีความต้องการใช้   9.3 ล้านตัน/เดือน แต่ตลาดมีซัพพลายเพียง 4.7 ล้านตัน/เดือน

นอกจากนี้ IRPC ได้วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกพีพี คอมพาวด์ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และสามารถใช้เป็นทุ่นพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ รวมถึงท่อน้ำประปาที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก

รวมทั้งได้ผลิตภัณฑ์ยางมะตอยพิเศษเกรด 40:50 มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น หลังจากที่ภาครัฐได้นำร่องให้ใช้ยางมะตอยเกรดพิเศษใหม่ใช้ก่อสร้างถนนพระราม 2 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิต 3,000 ตันต่อเดือน และมีโอกาสในอนาคตที่จะเพิ่มกำลังผลิต หลังจากที่มีคาดจะมีปริมาณความต้องการใช้

นายนพดล  คาดในไตรมาส 2/63 จะสรุปหาพันธมิตรด้านการตลาด เพื่อช่วยด้านการขายผลิตภัณฑ์ รวมถึงใส่เงินลงทุนเพื่อร่วมดำเนินโครงการให้กับโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS:Maximum Aromatics Project)​ กำลังการผลิตพาราไซลีน 1-1.3 ล้านตันต่อปี และเบนซีน 3-5 แสนตันต่อปี

โดยพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ได้แก่ กลุ่มปตท.และพันธมิตรต่างชาติ ซึ่งบริษัทจะยังคงมีสัดส่วนถือหุ้นใหญ่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ทั้งนี้คาดจะสรุปแผนลงทุนในปี 64 โดยมูลค่าโครงการอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท จากนั้นคาดจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2/68

บริษัทวางงบลงทุนปี 63 ไว้ประมาณ 8,500 ล้านบาท โดยจะใช้ลงทุนโครงการ Ultra Clean Fuel Project (UCF) การลงทุนรองรับการประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro 5 ประมาณ 4,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะใช้ปรับปรุงเครื่องจักร 2,000-3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เตรียมงบลงทุนเพื่อซื้อกิจการประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันสนใจที่จะซื้อกลุ่มธุรกิจที่ผลิตด้านเม็ดพลาสติกพีพี คอมพาวด์ และธุรกิจปลายน้ำ คาดจะสรุปปี 63 ได้ 1 แห่ง