คอลัมนิสต์ : การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง (ตอน1)

การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง (ตอน1)
โดย…สันติ กีระนันทน์

สันติ กีระนันทน์

เมื่อกล่าวถึงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น อาจจะมีความเข้าใจและความคาดหวังที่แตกต่างกันไปสำหรับคนแต่ละกลุ่ม

ชาวบ้านชาวช่องอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงคาดหวังให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ถูกลง ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ในขณะผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับระดับมหภาค คงต้องพูดถึงอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ที่เป็นการวัดความมั่งคั่งของเศรษฐกิจแบบภาพรวม

อย่างไรก็ดี ตัวเลข GDP นั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าประชาชนในประเทศจะอยู่ดีกินดีหรือไม่ เพราะตราบเท่าที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาก ๆ กล่าวคือ คนกลุ่มที่อยู่บนยอดปิรามิดเศรษฐกิจที่มีจำนวนไม่มาก แต่ครอบครองความมั่งคั่งเป็นจำนวนมาก ก็สามารถสร้าง GDP ให้เติบโตได้ โดยที่การแบ่งปันให้กลุ่มคนที่เป็นฐานปิรามิดเศรษฐกิจซึ่งมีจำนวนมาก แต่มีส่วนในการสร้าง GDP น้อย ก็ยังอาจจะลำบากอยู่ และเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศที่ยังไม่พัฒนาโดยทั่วไปที่มีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้

นอกเหนือจากความพยายามในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเห็นผลสำเร็จจาก GDP ที่เติบโตขึ้นนั้น การแก้ปัญหาระยะสั้นที่เป็นเรื่องปากท้องของประชาชน ก็เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประชานิยมอย่างในอดีต หรือเป็นมาตรการอื่นก็ตาม อย่างรัฐบาลนี้ก็ทำเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอีกประการคือการเก็บข้อมูล เพื่อให้รู้ตัวคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงว่าเป็นใครบ้าง และการที่ไม่แจกเงินโดยตรง ก็เพื่อเพิ่มโอกาสการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ไม่ให้ผู้ได้รับเงินนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ และลดโอกาสการคอร์รัปชั่นลงไปด้วยนั่นเอง

เมื่อเข้าระยะที่ 2 ข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะทำให้สามารถวิเคราะห์หาแนวทางช่วยเหลือเพื่อสร้างอาชีพให้กับคนกลุ่มนี้ได้ตรงเป้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องคอยดูต่อไปว่า ความพยายามของมาตรการระยะที่ 2 และระยะอื่น ๆ ที่ตามมาเพื่อลดปัญหาความยากจน จะประสบผลสำเร็จเพียงใด

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ส่วนปัญหาระยะยาวที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า ช่องว่างของการกระจายรายได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นปัญหาของประเทศที่ยังไม่พัฒนา (ไม่อยากเรียกว่าประเทศกำลังพัฒนา เพราะตั้งแต่เด็กที่จำความได้ ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มาจนใกล้จะเกษียณแล้ว ก็ยังไม่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
สักที) ถึงแม้รายได้ต่อคนต่อปีของคนไทยจะเป็นประมาณคนละ 120,000 บาท จัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่แท้ที่จริงแล้ว คนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังมีรายได้ต่ำกว่านี้ จึงอาจจะยังพูดได้ว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังเป็นคนจนอยู่

ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่จะต้องแก้ไขให้ได้ จึงจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น และลดความเปราะบางจากผลกระทบที่เป็นความผันผวนในระบบลงได้ ซึ่งหมายความว่า ถ้าทำสำเร็จ ช่องว่างของการกระจายรายได้ก็จะแคบลง คิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องทำให้คนไทยมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น

ส่วนด้านรายจ่ายนั้น เรื่องข้าวของแพง เงินเฟ้อ เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เพราะสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นผลจากปัจจัยในระดับโลกที่ควบคุมไม่ได้มากมาย การพัฒนาของเราจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยให้สามารถทำมาหากินได้เก่งมากขึ้น ลองคิดง่าย ๆ ว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (กว่า 40% อยู่ในภาคเกษตร) ที่มีรายได้ในระดับต่ำ เพราะเป็นเกษตรกรที่ขายผลผลิตทางการเกษตรแบบปฐมภูมิ (คือไม่มีการแปรรูป ไม่มีการเพิ่มมูลค่าใด ๆ ทั้งสิ้น) หากสามารถเปลี่ยนตนเองเป็นนักธุรกิจการเกษตร (คือมีการเพิ่มมูลค่าเข้าไปในผลิตผลทางการเกษตร) เพื่อทำให้ตนเองมีรายได้มากขึ้น หากทำสำเร็จ ก็จะเป็นการยกระดับความสามารถในการหารายได้ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดง่าย มองเห็นตามทฤษฎีก็จะไม่ยากต่อการเข้าใจ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่ปัจจัยของตัวผู้ถูกพัฒนาเอง ไปจนถึงความสามารถในการผลิต ต่อยอดผลผลิตของตนเอง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (ที่ต้นทุนต่ำ) ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคหรือข้อติดขัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นทั้งสิ้น

ประเทศไทยเคยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างหรือไม่

มองจากคนนอกที่ไม่ค่อยมีความรู้อะไรนัก พยายามนึกว่า ประเทศไทยเราเคยมีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือไม่ เชื่อว่าคงจะมีการทำเช่นนั้นหลายครั้งแล้ว

ยกตัวอย่างที่อาจจะพอจำความได้ คือ ก่อนปี พ.ศ. 2540 นั้น ภาคการเงินของประเทศไทยพึ่งพิงอยู่กับสถาบันการเงินเป็นหลัก ตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดทุน หรือตลาดเงิน ก็ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร และแม้แต่ตลาดทุน ก็มีแต่ตลาดหุ้นสามัญที่มีขนาดเล็ก เทียบกับขนาดของสถาบันการเงินแล้วเทียบไม่ได้เลย เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในครั้งนั้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน ไม่มีทางที่ตลาดการเงินจะพยุงภาคการเงินได้เลย

หลังจากวิกฤติครั้งนั้น ภาคการเงินจึงมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบด้วยการพัฒนาตลาดการเงินอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนปัจจุบัน ขนาดของตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดทุน ตลาดเงิน ก็ค่อนข้างมีขนาดไม่เล็กกว่าสถาบันการเงิน ตลาดทุนเองก็มีการพัฒนาทั้งตลาดหุ้นสามัญ (หลักทรัพย์ประเภทเจ้าของ) กับตลาดตราสารหนี้ (หลักทรัพย์ประเภทเจ้าหนี้) ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดกับหลายส่วนของภาคการเงินนั้น ย่อมทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า หากเกิดปัญหากับส่วนใดส่วนหนึ่งของภาคการเงินแล้ว อีกส่วนที่มีขนาดไม่เล็กกว่ากันนั้น ก็น่าจะสามารถช่วยพยุงไม่ให้เกิดวิกฤติร้ายแรงขึ้นได้ นับว่าเป็นการปรับโครงสร้างที่สำคัญครั้งหนึ่ง ซึ่งจากการปรับโครงสร้างครั้งนั้น ทำให้ภาคการเงินของประเทศไทยมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นมาก

ไม่มีใครทราบว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุด การปรับโครงสร้างในภาคการเงินเช่นนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นความพยายามในการลดความรุนแรง หากจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง