เงิน “เทมาเส็ก” สร้างคุณภาพคนสิงคโปร์ “ยั่งยืน”

HoonSmart.com>>สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ไปร่วมออกบูธครั้งแรกที่งาน Singapore Fintech Festival ในระหว่างวันที่ 11-13 พ.ย.2562 และพาคณะสื่อมวลชนไปชมความยิ่งใหญ่ของการจัดงานระดับโลก มีผู้เข้าร่วมงาน 6 หมื่นคนจาก 130 ประเทศทั่วโลก

ในงานนี้นอกจากได้เห็นศักยภาพด้านฟินเทคที่มีความหลากหลาย การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และยังได้รับความรู้ดีๆจากการเดินชมบูธ ฟังสัมมนาหลายเวที รวมถึงความรู้รอบตัว เกี่ยวกับกองทุนเทมาเส็กอีกด้วย

กองทุนเทมาเส็ก หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ จัดตั้งขึ้นในปี 2517 จากนโยบายของ “ลี กวนยู” บิดาและรัฐบุรุษของสิงคโปร์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกที่บริหารประเทศรวม 31 ปี (2502-2533) มีไอเดียและสร้าง”ความยั่งยืน” มานานมาก สามารถยกระดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นอันดับ 1 ของโลกที่มีความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2562 แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 5.6 ล้านคนเท่านั้น

“ลี กวนยู” ก่อตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund-CPF) เพื่อยกระดับคุณภาพ “มนุษย์” โดยนำเงินเดือนของคนสิงคโปร์และผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรมาบริหาร เป้าหมายเพื่อให้ทุกคนมีเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ มีที่อยู่อาศัย และมีเงินรักษาพยาบาล ไม่เป็นภาระของรัฐบาลในระยะยาว ไม่เหมือนกับหลายประเทศ

“ทุกคน ไม่ว่าจะทำงานประจำ หรือทำงานพาร์ทไทม์ จะถูกหักเงินเดือน 20% ทุกเดือน และให้นายจ้างจ่ายสมทบอีก 14 % จัดสรรเงินเข้า 3 กองทุน  คือสำหรับเกษียณอายุ (retirement), ซื้อบ้าน (housing) และดูแลสุขภาพ (healthcare) ตลอดทางที่สะสมเงินมีดอกเบี้ยเข้ากองทุนด้วย ในส่วนนายจ้างเคยจ่ายสมทบ 20% เท่ากับพนักงาน แต่เมื่อเกิดวิฤตการณ์เศรษฐกิจจากต่างประเทศ รัฐบาลได้แบ่งเบาภาระลง เหลือ 10% ก่อนจะปรับขึ้นมาเป็น 14% นโยบายนี้ทำให้คนสิงคโปร์ทุกคนต้องทำงาน ปัจจุบันมีบ้านเป็นของตัวเองมากกว่า 90% และได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ”

กองทุนสำหรับเกษียณอายุ เหมาะสมกับชื่อจริงๆ คือไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อน และจะได้รับเงินหลังเกษียณไว้ใช้จ่ายเป็นรายเดือนเท่านั้น ซึ่งนโยบายมีการปรับปรุง ในอดีตเคยมอบเงินทั้งก้อนให้ตอนสมาชิกมีอายุ 55 ปี แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ หมดตัวก่อนแก่ สร้างภาระให้กับรัฐบาล จึงปรับใหม่เป็นทยอยจ่ายเงินให้มีเงินไว้ตลอดอายุ และเมื่อเสียชีวิตลง เงินจะตกอยู่กับผู้รับมรดก

ส่วนกองทุนซื้อที่อยู่อาศัย เป็นที่รู้กันว่า ราคาบ้านในสิงคโปร์แพงมาก แต่คนสิงคโปร์ที่มีงานทำ และแต่งงานแล้ว มีบ้านหรือคอนโดมิเนียมเป็นของตัวเองมากกว่า 90% เพราะสามีและภรรยานำเงินกองทุนนี้มารวมกันวางเงินดาวน์ และหักเงินผ่อน สามารถจ่ายหมดได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี สำหรับคนโสด กว่าจะซื้อบ้านได้ ยากหน่อย จะต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป เพราะเป็น”โสด” แน่นอน แต่ไม่ว่าจะโสดหรือแต่งงานแล้ว จะซื้อบ้านภายใต้ราคาที่มีเงินกองทุนเป็นตัวกำหนด สะท้อนถึงความสามารถในการซื้อและผ่อนบ้านอย่างแท้จริง

สำหรับกองทุนดูแลสุขภาพ เงินเดือนจะหยุดไหลเข้ากองทุนนี้ เมื่อส่งครบ 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1.1 ล้านบาท ส่วนเกินจะโอนเข้ากองทุนเกษียณอายุ กองทุนนี้จะทำหน้าที่ เมื่อสมาชิกไปรักษาที่โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายจะถูกตัดออกจากกองทุน  ทำให้คนสิงคโปร์เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และได้รับการดูแลอย่างเต็มที่

เห็นตัวอย่างที่ดีของ”สิงคโปร์” อย่างนี้แล้ว รัฐบาลไทยน่าจะนำมาใช้เป็นแบบอย่าง จะได้ไม่ต้องเปิดโครงการ … ไม่ต้องออกมาตรการ…. แต่คิดว่าคงไม่ได้เห็นนโยบายแบบนี้ในบ้านเรา ดังนั้น”คนไทย”อาจจะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเงินที่เข้ามาในครอบครัว  เมื่อแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนได้แล้ว นำไปบริหาร เช่น เลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเก็บไว้ เพื่อให้เกิดดอกออกผล หากถึงคราวจำเป็นต้องใช้เงิน โดยเฉพาะยามเกษียณจะได้ไม่ลำบากตอนแก่ หรืออาจจะเป็นไอเดียให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดตั้งกองทุนในรูปแบบนี้  เชื่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์คงไม่สงวนลิขสิทธิ์