ตปท.แชมป์ “โปรแกรมเทรด” DW-SET50 รายใหญ่-รายย่อยพ่าย ถอยออกจากตลาด

รายงานพิเศษ HoonSmart.com>> นักลงทุนที่ชอบเล่น DW นิยมเทรดหุ้นใน SET 50 ผ่าน Block trade พึงระวัง จะต้องรู้ว่าคู่แข่ง ทั้งนักลงทุนต่างชาติ กองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการซื้อขายหลักทรัพย์

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย พบว่า มูลค่าการซื้อขายจากการใช้โปรแกรมเทรด (program trade) คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งตลาด โดยเกือบทั้งหมดเป็นฝีมือของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในหุุ้นขนาดใหญ่ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีหุ้น 50(SET50) มูลค่า 9,040 ล้านบาท และ DW (ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์) จำนวน 2,050 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562

เป็นสาเหตุที่ทำให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดเติบโตมาก นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนนักลงทุนในประเทศกลับลดลง

นักลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมเทรด มีมูลค่าการซื้อขาย DW เติบโตถึง 39% และเทรดหุ้นเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการซื้อขายรวมในปี 2559 ส่วนที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมเทรดเติบโต 14% ขณะที่นักลงทุนไทยรายใหญ่ ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน ลดลงถึง 16% ไม่ต้องพูดถึงนักลงทุนรายย่อยที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

ส่วนพอร์ตของบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เติบโต 8% และสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้น 5% เพราะส่วนหนึ่งก็ใช้โปรแกรมเทรดเหมือนกัน

” นักลงทุนต่างชาติ มากกว่า 50% มาจากการใช้โปรแกรมเทรด โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้โปรแกรมเทรดเพียงอย่างเดียว เร่งตัวสูงมาก ในช่วง 9 เดือนปีนี้โตถึง 34% เทียบกับปี 2559 ”

นักลงทุนต่างชาติใช้โปรแกรมเทรด ทำให้ซื้อขายเร็ว และมียอดถือครองมากขึ้น ส่วนนักลงทุนไทย มีมูลค่าการซื้อขายลดลง และประมาณ 1 ใน 3 หยุดซื้อขายเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัญชีขนาดเล็ก

นอกจากนี้ยังพบว่านักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะต่างชาติ ยังคงเน้นซื้อขายหุ้นไทยตามดัชนีสากล ใน MSCI Standard Index และ DJSI (ดัชนีการเติบโตอย่างยั่งยืนของดาวโจนส์)

ส่วนนักลงทุนในประเทศ มีแนวโน้มที่จะจัดสรรเงินลงทุนมาให้หุ้นไทยเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนการถือครองเพิ่มขึ้น โดยกว่า 54% ถือครองโดยกองทุนรวม

สำหรับนักลงทุนบุคคล ปัจจุบันมีบัญชีหุ้นรวม 1.7 ล้านบัญชี หรือจำนวน 1.2 ล้านคน ณ สิ้นเดือนมิถนายน 2562 ในปี 2561 มีการซื้อขายอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี จำนวน 0.5 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ชาย 54% และผู้หญิง 46% ประมาณ 70% อยู่ในกรุงเทพ และปริมณฑล

อย่างไรก็ตามนักลงทุนบุคคลขนาดเล็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกือบ 80% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ที่มีเพียง 2% หรือประมาณ 1 หมื่นคนเท่านั้น

ส่วนช่องทางการลงทุน พบว่านักลงทุนที่มีอายุน้อยซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมด แม้แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุพบว่ากว่าครึ่งใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้น โดยรวมนักลงทุนที่ซื้อขายในครึ่งแรกของปีนี้ 418,413 คน เทรดผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้นถึง 326,609 คน

นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการซื้อสะสมแบบ DCA จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2561 แต่ยังมีมูลค่าน้อยในเชิงการซื้อขาย ส่วนนักลงทุนที่ยิ่งสูงอายุจะยิ่งมองหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สม่ำเสมอขึ้นจากหุ้นปันผล

สำหรับนักลงทุนรายใหม่ จำนวน 50,236 คนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ประมาณ 17,698 คน จะเริ่มซื้อขาย มีบทบาทประมาณ 1% ชองมูลค่าซื้อขายทั้งหมดของนักลงทุนบุคคล

นักลงทุนรายใหม่ที่เริ่มซื้อขายในแต่ละปีมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และการซื้อขายมากกว่า 60% อยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ใน SET 100 คิดเป็นสัดส่วน 46% ที่สำคัญพฤติกรรมในช่วงปี 2557-2560 ส่วนใหญ่ สะสมกำไรไม่นาน แต่จะทนขาดทุนได้มากกว่า คือประมาณ 75% จะขายหุ้นในปีที่ 2 เมื่อได้กำไรไม่เกิน 10% ซึ่งพบว่าถ้าถือลงทุนยาวมีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักลงทุนกลุ่มปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเน้นลงทุนยาวหรือเน้นปันผล พบว่านักลงทุนเกินกว่าครึ่งได้กำไรจากการลงทุน นอกจากนี้ยังพบว่านักลงทุนหน้าใหม่ประมาณ 1 ใน 5 จะหยุดการซื้อขายหุ้นในปีที่สอง และทยอยลดในปีต่อๆมา อย่างไรก็ดี ในระยะยาวพบว่านักลงทุนประมาณครึ่งหนึ่งจะได้เรียนรู้และยังคงซื้อขายต่อเนื่อง ”

สรุปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หุ้นขนาดใหญ่มีมูลค่าซื้อขายทรงตัว ขณะที่หุ้นขนาดกลางและเล็กลดลงมาก เพราะนักลงทุนบุคคล ส่วน DW เติบโตก้าวกระโดดจากนักลงทุนสถาบันเป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการซื้อขายของตลาดที่เพิ่มขึ้นมาจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้โปรแกรมเทรด

เห็นข้อมูลอย่างนี้แล้วไม่แปลกใจที่นักลงทุนไทยถอยออกจากตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเล่นยังไงก็เอาชนะยาก ขนาดรายใหญ่ยังพ่ายแพ้เลย แล้วรายย่อยจะสู้ไหมไหม?