KTAM เสิร์ฟกองทุนตราสารหนี้ 6 เดือนชู 1.10% ต่อปี

HoonSmart.com>> บลจ.กรุงไทย เปิดขายเทอมฟันด์ลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ 6 เดือน ผลตอบแทนประมาณ 1.10% ต่อปี ด้านอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในประเทศปรับตัวลงทุกช่วงอายุ รับจีดีพี ส่งออกไตรมาสสามชะลอตัว ด้านผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลง สงครามการค้ายืดเยื้อ

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่าย Roll Over รอบใหม่ คือ กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 6 เดือน 3 ( KTSIV6M3) รหัสกองทุน คือ K 3 I ตั้งแต่วันที่ 9-13 ธันวาคม 2562 อายุโครงการประมาณ 6 เดือน เน้นลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ ประเภทเงินฝาก ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และตราสารหนี้ภาคเอกชน ผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 1.10% ต่อปี ผลตอบแทนที่ได้รับไม่เสียภาษี ยกเว้นนิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่ประกอบกิจการในประเทศไทย

สำหรับตราสารที่คาดว่าจะลงทุน คือ (1) ตั๋วแลกเงิน บริษัทราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนประมาณ 9% ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับประมาณ 0.14% ต่อปี (2) หุ้นกู้ระยะสั้น บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ในสัดส่วนประมาณ 9% ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับประมาณ 0.15% ต่อปี และ (3) พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในสัดส่วนประมาณ 82% ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับประมาณ 1.03% ต่อปี (ที่มาของข้อมูล: ข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์และผู้ค้าตราสารหนี้ วันที่ 4 ธันวาคม 2562)

ส่วนเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน อนึ่ง ทรัพย์สินที่ลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ทำให้ความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทจัดการอาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก ตลอดจนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่สำนักงานฯ อนุญาตให้ลงทุนได้ภายใต้กรอบการลงทุนของ บลจ. กรุงไทย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่ประมาณการไว้

ในช่วงสัปดาห์ที่ 22-29 พฤศจิกายน 2562 อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ตามการทำ Open Market Operation ของ ธปท. ท่ามกลางแรงซื้อที่มีมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ของนักลงทุนจากกระแส Risk Off ในประเทศจากการชะลอตัวของ GDP ไตรมาส 3 และการส่งออกเดือนตุลาคม ในขณะที่สภาพคล่องในระบบยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเป็นยอดขายสุทธิจำนวน 464 ล้านบาท สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนของไทย ความคืบหน้าของการเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกากับจีน ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตราสารหนี้ต่างประเทศ

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวลดลงเกือบทุกช่วงอายุตามกระแส Risk Off จากความกังวลว่าข้อพิพาททางการค้าจะยืดเยื้อต่อไปหลังสภาสหรัฐอเมริกาผ่านร่างกฎหมายสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง ในขณะที่ทรัมป์ยืนยันที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากจีนตามกำหนดหากยังไม่มีการลงนามในข้อตกลง โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 1.61%ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลง อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับลดลง 3 bps. มาอยู่ที่1.62% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 7 bps. มาอยู่ที่ 1.77% ต่อปี

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้า และการเมืองของสหรัฐอเมริกา