“สารัชถ์” แชมป์เศรษฐีหุ้นปี 62 รวย 1.2 แสนล้าน เบียด “หมอเสริฐ”

HoonSmart.com>>GULF ราคาพุ่งหนุน “สารัชถ์ รัตนาวะดี นั่งบัลลังก์แชมป์เศรษฐีหุ้นปีแรก รวยขึ้น 63,315 ล้านบาท หรือ 109% แซงหน้า นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ  รวยลดลง เหลือ 6.61 หมื่นล้านบาท  อันดับ 3 นิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ทายาทโอสถสภา รวย 4.86 หมื่นล้านบาท อันดับ 4 คีรี กาญจนพาสน์   43,080.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,708.42 ล้านบาท หรือ 51.84% อันดับ 5 สมโภชน์ อาหุนัย  ร่วงจากอันดับ 3 ถือหุ้น 42,084.25 ล้านบาท ลดลง 125.16 ล้านบาท  ด้านเจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่  มีลุ้นเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นปี 63  ได้ AWC หนุน 

 

วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย ปีนี้เป็นปีที่ 26  โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาที่ถือหุ้น 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 ก.ย. 2562 ปรากฏว่า  ได้ต้อนรับแชมป์เศรษฐีหุ้นคนใหม่  นายสารัชถ์ รัตนาวะดี  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF จากการถือหุ้นอันดับ 1 สัดส่วน 35.44% มูลค่ารวม 120,960 ล้านบาท รวยขึ้น 63,315 ล้านบาท หรือ 109.84%

GULF เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทสไทย ในช่วงไม่ถึง 2 ปี  ราคาหุ้น GULF เพิ่มขึ้นร้อนแรง จากราคาเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) ที่ 45 บาท ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ 160 บาท ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562 หรือ เพิ่มขึ้น 83.75 บาท เท่ากับ 109.84% ส่งผลให้ นายสารัชถ์ ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นปี 2562 หลังจากเข้ามาเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว

ส่วนเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ  เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 66,110.64 ล้านบาท รวยลดลง 11,018.68 ล้านบาท หรือ 14.29%  เพราะราคาหุ้นบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS), บริษัท การบินกรุงเทพ (BA) และ บริษัทโรงพยาบาลนนทเวช (NTV) ราคาลดลงจากปีที่แล้ว ส่งผลให้นพ.ปราเสริฐ ที่เป็นแชมป์เศรษฐีหุ้น 6 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2556- 2561  อันดับลดลงมาเป็นที่ 2

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ได้แก่ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา นายนิติ โอสถานุเคราะห์ ก้าวจากอันดับ 7 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น 48,613.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,648.61 ล้านบาท หรือ 52.08% นอกจากหุ้นที่ลงทุนมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ในปี 2562 นายนิติยังถือหุ้น บริษัท โอสถสภา (OSP) อันดับสอง 16.28% ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ขยับจากอันดับ 9 เมื่อปีที่แล้ว โดยหุ้นที่ถือครองรวมมูลค่  43,080.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,708.42 ล้านบาท หรือ 51.84% เนื่องจากราคาหุ้น BTS และ บริษัท วี จี ไอ โกบอล มีเดีย (VGI) สูงขึ้นมากจากปีที่แล้ว

เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ได้แก่ นายสมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA)  หล่นจากอันดับ 3 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 42,084.25 ล้านบาท ลดลง 125.16 ล้านบาท หรือ 0.30%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 ได้แก่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการกลุ่มบริษัท ทีโอเอ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA  ถือครองหุ้น 41,055.30 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 34,162.15 ล้านบาท หรือ 495.60% จากการถือหุ้นใหญ่บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) สัดส่วน 73.37% หลังซื้อบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย (SMM) เมื่อเดือนก.ค.2562 เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางอ้อม (Backdoor Listing)

เศรษฐีหุ้นอันดับ 7 และ 8 ได้แก่ สองเศรษฐีหุ้นเจ้าของ บริษัท เมืองไทยแคปปิตอล (MTC)  นาง ดาวนภา เพ็ชรอำไพ ร่วงลงไปอยู่ในอันดับ 7 จากอันดับ 5 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น MTC มูลค่า 41,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,300 ล้านบาท หรือ 18.13% และนาย ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ร่วงจากอันดับ 4 ลงมาอยู่อันดับ 8 ถือหุ้นมูลค่า 40,841.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,448.98 ล้านบาท หรือ 15.40%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ นายพิชญ์ โพธารามิก เจ้าของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ถูกเบียดลงมาจากอันดับ 8 เมื่อปีที่แล้ว  ถือหุ้นรวม 32,596.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,677.46 ล้านบาท หรือ 12.72%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ นายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ร่วงจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้วช ถือหุ้น  27,469.19 ล้านบาท ลดลง 5,431.16 ล้านบาท หรือ 16.51%

ด้าน เจ้าสัวเจริญ และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้ก้าวเข้ามาอยู่ในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้เป็นครั้งแรก โดยอยู่ในอันดับ 23 มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองคนละ 10,330.57 ล้านบาท จากการนำบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) โฮลดิ้งของกลุ่มสิริวัฒนภักดีที่ลงทุนในธุรกิจประกัน “อาคเนย์” เข้าตลาดทางอ้อม ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2562 โดยถือหุ้น SEG สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วนเท่ากันที่ 37.38% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่ออย่างเป็นทางการในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยในปี 2563 น่าจะได้เห็นความมั่งคั่งของเจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณาเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล จากการนำ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) โฮลดิ้งที่ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ “ทีซีซี กรุ๊ป” เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562 ด้วยมูลค่า IPO รวม 185,742 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ซึ่งเจ้าสัวเจริญถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ในสัดส่วน 25.12% และคุณหญิงวรรณาถือหุ้นอันดับ 3 ในสัดส่วน 19.77%