BBL เซ็นซื้อแบงก์อินโด 8.1 หมื่นลบ. จ่าย 1.77 เท่าของบุ๊ก ยันไม่เพิ่มทุน

HoonSmart.com>> ธนาคารกรุงเทพ ซื้อกิจการ “พีที แบงก์ เพอร์มาตา” ในอินโดนีเซีย เซ็นสัญญาซื้อหุ้น 89.12% จ่าย 1.77 เท่าของบุ๊ก มูลค่ารวม 8.1 หมื่นล้านบาท ยันไม่ต้องเพิ่มทุนนำเงินซื้อหุ้น คาดซื้อหุ้นเสร็จปี 63 ก่อนซื้อหุ้นส่วนที่เหลือจากรายย่อย หนุนธนาคารเข้าถึงตลาดอินโดนีเซีย เศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียน ดัน EPS-ROE เพิ่มขึ้นทันทีปี 63

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ธ.ค.2562 ธนาคารได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นโดยมีเงื่อนไข กับ Standard Chartered Bank (สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด) และ พีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค (PT Astra International Tbk) เพื่อเสนอซื้อหุ้นกลุ่ม ข.จำนวน ทั้งหมด 24,991,429,332 หุ้น ในธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) คิดเป็นสัดส่วน 89.12% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของเพอร์มาตา ตามมติเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2562 โดยสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดและแอสทร่าจะขายหุ้นกลุ่ม ข.เป็นจำนวนรายละ 12,495,714,666 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 44.56% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของเพอร์มาตา ให้แก่ธนาคาร

ทั้งนี้ เพอร์มาตาเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของอินโดนีเซีย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2498 ประกอบกิจการเสนอขายผลิตภัณฑ์และให้บริการด้านการธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ มีลูกค้ารายย่อย ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้าองค์กร รวมกว่า 3.5 ล้านราย ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.62 เพอร์มาตามีสำนักงานรวม 332 แห่ง (แบ่งออกเป็น สำนักงานสาขาและสาขาเคลื่อนที่) มีเครื่องบริการเบิก-ถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) รวม 989 เครื่องใน 62 เมืองทั่วประเทศอินโดนีเซีย

ณ วันที่ 30 ก.ย.62 เพอร์มาตามีเงินให้สินเชื่อจำนวน 108 ล้านล้านรูเปีย เทียบเท่ากับ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 234,000 ล้านบาทโดยประมาณ มีเงินรับฝากจำนวน 120 ล้านล้านรูเปีย เทียบเท่ากับ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 259,000 ล้านบาทโดยประมาณและมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 7,670 คน

การทำธุรกรรมนี้ตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าที่ได้รับการตกลงร่วมกันอยู่ที่ 1.77 เท่าของมูลค่าตามบัญชีของเพอร์มาตา (โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงราคา) ดังนั้น หากคำนวณตามมูลค่าตามบัญชีของเพอร์มาตา ณ วันที่ 30 ก.ย.62 ราคาซื้อหุ้นเบื้องต้นจะอยู่ที่ 1,498 รูเปียต่อหุ้น และมูลค่าธุรกรรมเบื้องต้นสำหรับการเข้าซื้อหุ้นจำนวน 89.12% ของหุ้นทั้งหมดในเพอร์มาตาจะอยู่ที่ 37,430,974 ล้านรูเปีย เทียบเท่ากับ 2,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 81,017 ล้านบาทโดยประมาณ

ราคาซื้อหุ้นที่ธนาคารจะต้องชำระในการเข้าซื้อหุ้นจำนวน 89.12% ของหุ้นทั้งหมดในเพอร์มาตาจะถูกคำนวณอีกเป็นครั้งสุดท้ายโดยอ้างอิงที่อัตรา 1.77 เท่าของมูลค่าตามบัญชีของเพอร์มาตา (โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงราคา) ตามที่ปรากฏในงบการเงินของเพอร์มาตาที่ได้รับการเผยแพร่ก่อนวันที่ทำธุรกรรมแล้วเสร็จ

ธนาคารจะเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาให้ความเห็นชอบธุรกรรมนี้ภายในเวลาอันสมควร เมื่อได้รับอนุมัติเห็นชอบและได้รับการอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วนแล้ว ธนาคารคาดว่าจะเข้าทำธุรกรรมให้แล้วเสร็จได้ภายในปี 2563 และคาดว่าจะทำคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือในเพอร์มาตาอีก 10.88% จากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาเสนอซื้อเดียวกันภายหลังการทำธุรกรรมแล้วเสร็จ

อนึ่ง BBL ระบุในเอกสารเผยแพร่เพิ่มเติมว่า คาดว่าหากซื้อหุ้นทั้ง 100% ของเพอร์มาตาจะมีมูลค่ากิจการที่ซื้อทั้งหมด 42,001,080 ล้านรูเปีย เทียบเท่ากับ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 90,909 ล้านบาทโดยประมาณ

ในการเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ ธนาคารคาดว่าจะใช้เงินทุนภายในและแหล่งเงินทุนที่ได้จากการจัดหาเงินทุนตามปกติของธนาคาร โดยในขณะนี้ ธนาคารยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุนเพื่อนำเงินที่ได้มาซื้อหุ้นในครั้งนี้โดยเฉพาะแต่อย่างใด

สำหรับเหตุผลในการเข้าซื้อกิจการของเพอร์มาตาครั้งนี้ ทำให้ธนาคารเข้าถึงตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นจำนวน 1.04 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีประชากรรวม 267 ล้านคน ที่ประกอบไปด้วยประชากรวัยทำงานที่มีอายุน้อยจำนวนมาก มีจำนวนประชากรที่มีรายได้ระดับปานกลางและสูงที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียยังมีอัตราการเริ่มใช้งานระบบดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงและมีประชากรที่ยังไม่ได้ใช้บริการของธนาคารใดๆ เป็นจำนวนมาก

ธุรกรรมนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ระหว่างประเทศของธนาคารซึ่งมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็นธนาคารชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งมีการดำเนินกิจการในบรรดาตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียน สร้างแพลตฟอร์มพื้นฐานที่แข็งแกร่งในตลาดที่มีความน่าสนใจและเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านธนาคารที่มีขนาดพอเหมาะและมีคุณภาพ ทำให้ธนาคารสามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นจากการรวมกันทางธุรกิจและการเงินภายในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงได้มากยิ่งขึ้น

รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของบริษัทไทยในการขยายตัวไปยังต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น โดยการลงทุนของไทยในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ 25% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2551 และยังช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้น (EPS) และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ของธนาคารได้ทันที (ในปีการเงิน 2563 หากธุรกรรมแล้วเสร็จภายในปี 2563) และเป็นที่คาดการณ์ว่าจำนวนเงินกองทุนของธนาคารภายหลังการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้จะยังคงแข็งแกร่งต่อไป