BBL ซื้อแบงก์อินโดฯ 9 หมื่นล้าน ยันไม่เพิ่มทุน-ปันผลดี กำไรมั่นคง

HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงเทพเดินตามกลยุทธ์ผู้นำแห่งภูมิภาค จบดีลซื้อแบงก์ พีที เพอร์มาตา อินโดนีเซีย ใช้เงินลงทุน 9 หมื่นล้านบาท อาศัยจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายหนุนธุรกิจไทยและอาเซียนเติบโต เพิ่มกำไร อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นปี 2563  โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน จ่ายเงินปันผลเหมือนเดิม ราคาหุ้น BBL ร่วง 4.44% กลัวผลกระทบ บล.บัวหลวง มองดีลเป็นบวก บล.ฟินันเซียไซรัสคาดรับรู้กำไร 3,000 ล้านบาท  ตลาดบวก รับข่าวดี S&P ปรับเพิ่มมุมองไทยขึ้นเป็นบวก เฟดคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ธนาคารกรุงเทพ(BBL) สร้างประวัติศาสตร์ในวงการธนาคารพาณิชย์ไทย เป็นแบงก์แรกที่ออกไปซื้อกิจการธนาคารในต่างประเทศ โดยนาย ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้เดินทางไปอินโดนีเซีย และวันที่ 12 ธ.ค. 2562 ได้เซ็นสัญญาซื้อหุ้นธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค จำนวน 89.12% จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ พีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค ในราคา 37,430,974 ล้านรูเปีย เทียบเท่า 2,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 81,017 ล้านบาท โดยจะต้องจัดทำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือ หากซื้อหุ้นทั้งหมด 100 % คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 42,001,080 ล้านรูเปีย เทียบเท่ากับ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90,909 ล้านบาท ทั้งนี้ราคาหุ้นประเมินจาก 1.77 เท่าของมูลค่าตามบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย.2562 ราคาซื้อหุ้นเบื้องต้นจะอยู่ที่ 1,498 รูเปียต่อหุ้น คาดว่าธุรกรรมจะแล้วเสร็จภายในปี 2563  ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรและอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น(ROE)ได้ทันที

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารตัดสินใจเข้าซื้อกิจการธนาคาร พีที เพอร์มาตา   ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของอินโดนีเซีย จะช่วยทำให้ธนาคารกรุงเทพใหญ่ขึ้นในภูมิภาค หลังจากนำสาขาของธนาคารกรุงเทพ 3 แห่งในอินโดนีเซียรวมด้วยจะเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 10 ของอินโดนีเซีย ที่สำคัญสามารถนำจุดแข็งของธนาคารทั้งสองแห่ง ขยายตลาดทางด้านการเงินรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้ารายใหญ่ในประเทศไทยที่ไปลงทุนในอินโดนีเซีย และลูกค้าในอินโดนีเซียที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายของธนาคารเพิ่มความสะดวกในการบริการให้กับลูกค้ามากขึ้น โดยการลงทุนครั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนและไม่มีผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น

ธนาคารกรุงเทพเริ่มกลยุทธ์เป็นธนาคารสู่ภูมิภาค จากการออกไปเปิดสาขาแห่งแรกที่ฮ่องกง เมื่อปี 2497  ปัจจุบันมีเครือข่ายสาขาในต่างประเทศกว้างขวางที่สุดถึง 31 แห่ง มีสาขาครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก และสินเชื่อของกิจการต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 17% ของสินเชื่อทั้งหมด โดยได้เข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียเมื่อปี 2511 ทำให้มีความเข้าใจธุรกิจธนาคารและมองเห็นโอกาสการเติบโตอย่างชัดเจน

นายจรัมพร โชติกเถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การขยายธุรกิจต่างประเทศเป็นกลยุทธ์สำคัญ และธนาคาร พีที เพอร์มาตา มีจุดเด่น มีขีดความสามารถในการแข่งขัน กลุ่มลูกค้าหลากหลาย เป็นผู้นำสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ SME และรายย่อย โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเลิศ ผู้บริหารเก่ง และวัฒนธรรมองค์กรคล้ายธนาคารกรุงเทพ สามารถเชื่อมโยง และสนับสนุนบริการลูกค้าในอาเซียนและเอเชีย ขณะที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่และเติบโตเร็ว สิ่งแวดล้อมธุรกิจที่เป็นนันแบงก์จำนวนมาก ใช้เทคโนโลยีในการขยายธุรกิจ

นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร BBL กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซียยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมากเมื่อเทียบกับธุรกิจธนาคารในประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจชะลอตัวใน 2-3 ปี นอกจากนี้ยังมีอัตราการเข้าถึงสินเชื่ออยู่ในระดับต่ำที่ 38-39%ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่สูงถึง 80%

นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของธนาคารเพอร์มาตา มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) สูงกว่า 3% มากกว่า NIM ของแบงก์กรุงเทพที่  2.4% ดีลนี้มีความคุ้มค่าในการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมาในระดับที่ดี นอกจากนี้ยังทำให้ธนาคารกรุงเทพมีสินทรัพย์เพิ่มเป็น 3.3 ล้านล้านบาท จากปัจจุบัน 3 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศเพิ่มเป็น 25% ของสินเชื่อทั้งหมด จากปัจจุบันอยู่ที่ 17%

” ราคาที่ซื้อคิดจาก 1.77 เท่าของบุ๊ก เป็นราคาที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาจากการซื้อขายหุ้นแบงก์ในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย อยู่ที่  1.72-1.73 เท่า และการซื้อกิจการใช้ 3-4 เท่า “นายชาญศักดิ์กล่าว

ด้านราคาหุ้น BBL ตกใจกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากดีลการซื้อกิจการครั้งนี้ กดราคาหุ้นปิดที่ 161.50 บาท ลดลง 7.50 บาท หรือ -4.44%ลากแบงก์อื่นปรับตัวลงตาม เช่น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปิดที่ 140 บาท ลดลง 2 บาท หรือ -1.41%

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นบวกแรง รับข่าว S&P ปรับเพิ่มมุมมองประเทศไทยขึ้นเป็นบวก ซึ่งจะดึงเงินทุนต่างประเทศกลับเข้าไทยอีกครั้ง และธนาคารสหรัฐ(เฟด) คงมุมมองยังไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง มองดีลนี้เป็นผลดี มองว่าราคาหุ้น BBL ที่ปรับตัวลงมาถูกและสามารถเข้าซื้อได้ ยังคงคำแนะนำซื้อลงทุน

บล.ฟินันเซียไซรัส พิจารณาข้อมูลทางการเงินของธนาคารพีที เพอร์มาตา พบด้อยกว่า BBL เช่น ROE ยังอยู่ในระดับต่ำที่ราว 5% แต่ NIM อยู่ที่ 4% ขณะที่ BBL อยู่ที่ 2.25% ขณะที่มีสินเชื่อคงค้างที่ราว 2.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 12% ของสินเชื่อของ BBL

ทั้งนี้ หาก BBL ซื้อพีที เพอร์มาตา 90% อิงจากประมาณการกำไรของ BB Consensus ในปี 2563 ที่ 3,400 ล้านบาท BBL น่าจะรับรู้กำไรได้ที่ราว 3,000 ล้านบาท คิดเป็น 8.8% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของเรา และคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 1.57 บาท แต่มีผลต่อราคาเหมาะสมของเราน้อยมาก เดิมให้ไว้ที่ 187 บาท

“คงประมาณการกำไรและราคาเหมาะสมของ BBL ที่ 187 บาท ราคาล่าสุดซื้อขายที่เพียง 0.72 เท่าของประมาณการปี 2563 ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ให้ส่วนลดมากเกินไป จึงคงคำแนะนำ ซื้อ”บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุ

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาด กลุ่มธนาคารมีโอกาสฟื้นตัว หลัง S&P ปรับเพิ่มมุมองไทยขึ้นเป็นบวก แนะนำซื้อเก็งกำไร KBANK,SCB และสะสม TCAP ส่วนกรณี BBL ปรับตัวลงตามปัจจัยกังวลเฉพาะตัว หากธนาคารอื่น ปรับตัวลงตามมีโอกาสดีดกลับได้ แนะนำซื้อเก็งกำไรเช่นกัน

ทางด้านการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ( เฟด) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวไปจนถึงอย่างน้อยปี 2565 ส่วนอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสคงอยู่ในระดับปัจจุบันจนถึงปี 2563 และอาจจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2564-2565

อ่านประกอบ

BBL เซ็นซื้อแบงก์อินโด 8.1 หมื่นลบ. จ่าย 1.77 เท่าของบุ๊ก ยันไม่เพิ่มทุน

หุ้น BBL ร่วง 5% กังวลทุ่มเงินซื้อแบงก์อินโดกระทบจ่ายปันผล