BBL ทิ้ง BTS ตามคาด 7,400 ลบ. จับตาขาย GULF คิวต่อไป

HoonSmart.com>>BBLจุดพลุหุ้นในพอร์ตบวกแรง หลังบีทีเอสมีบิ๊กล็อต 600 ล้านหุ้น มูลค่า 7,400 ล้านบาท บิ๊ก BTS ให้สัมภาษณ์ธนาคารกรุงเทพขายให้กองทุนต่างชาติ หนุนบล.บัวหลวงมาร์เก็ตแชร์สูงสุด 14% สวนกระแสข่าวแบงก์ไม่เลือกวิธีขายเงินลงทุนหาเงินซื้อธนาคารอินโดนีเซีย ปลุกความมั่นใจลุยหุ้น GULF พุ่งแรง ผู้บริหารแบงก์จัดประชุมนักวิเคราะห์นัดพิเศษ ชี้แจงผลดีซื้อธนาคารพีที เพอร์มาตา  บล.ดีบีเอส-เคทีบีมองบวกระยะยาว แนะนำ”ซื้อ” ส่วนเคจีไอยังไม่เชื่อให้แค่ “ถือ”

วันที่ 19 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา มีการซื้อขายรายการใหญ่ (บิ๊กล็อต) หุ้นบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์(BTS) จำนวน 600 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 12.40 บาท รวมมูลค่า 7,440 ล้านบาท ทั้งนี้ ราคาซื้อขายต่ำกว่าราคาในตลาด  โดยราคาปิดที่ 13.20 บาท บวก 0.30 บาทหรือ 2.33% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 10,440 ล้านบาท

รายงานข่าวจาก อินโฟเควสท์ ระบุว่า นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้เสนอขายหุ้นที่ถืออยู่ใน BTS ให้กับกลุ่มของตนเอง แต่ไม่สามารถรับข้อเสนอได้ เนื่องจากติดเกณฑ์ห้ามซื้อขายหุ้นในช่วงใกล้ปิดงวดบัญชีผลการดำเนินงาน จึงคาดว่า BBL น่าจะขายหุ้นออกทั้งหมดให้กับกองทุน เพราะมีความต้องการใช้เงินในช่วงนี้

“BBL น่าจะขายหุ้น BTS ทั้งหมด ผ่านโบรกเกอร์ เข้าใจว่าขายให้กับพวก Fund(กองทุน) ซึ่งทางกลุ่มฯไม่ได้เข้าซื้อเพราะติด Silent Period  ส่วน BBL น่าจะต้องการใช้เงินก็เลยขายออกไป BBL ลงทุนใน BTS มาสิบกว่าปีแล้ว ก็น่าจะถือที่ราคาต้นทุน 3-4 บาท”นายกวิน กล่าว

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ BTS   ณ วันที่ 31 ก.ค.2562  ธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้นใหญ่อันดับสี่  545,466,733 หุ้น หรือ 4.34%

ขณะเดียวกันมีการอ้างแหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ ว่าไม่มีนโยบายในการขายหุ้นในพอร์ตออกมา ส่งผลให้ราคาหุ้นในพอร์ตของธนาคารกรุงเทพขายรับข่าวดี โดยเฉพาะ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF) ปรับตัวขึ้นแรงปิดที่ 163.50 บาท บวก 6.50 บาทหรือ 4.14% และหุ้นอาร์เอส (RS)บวก 0.20 บาท หรือ 1.68% ปิดที่ 12.10 บาท

ทั้งนี้ การขายหุ้น BTS ออกไปครั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกรุงเทพจะขายหุ้น GULF เป็นตัวต่อไป เนื่องจากได้กำไรจำนวนมาก โดยธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่เก้า จำนวน 47.5 ล้านหุ้น หรือ 2.23%  หากขายออกในราคาตลาดที่ 163.50 บาท จะได้รับเงินประมาณ 7,766 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการขายหุ้น BTS รอบนี้  เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) ในอินโดนีเซียมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท

การที่ราคาหุ้นในพอร์ตของธนาคารกรุงเทพพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง ส่งผลให้ตลาดหุ้นโดยรวมผันผวน ขึ้นและลงระหว่างวันถึง 23.62 จุด ดัชนีปิดที่ระดับ 1,573.51 จุด บวก 9.77 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 65,486 ล้านบาท โดยพอร์ตบล.กลับมียอดซื้อสุทธิ 4,232 ล้านบาท ต่างชาติขายเล็กน้อย 444 ล้านบาท นักลงทุนในประทศขาย 2,077 ล้านบาทและสถาบันขาย 1,709 ล้านบาท  ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง(BLS) เป็นโบรกเกอร์ที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงเป็นอันดับหนึ่ง  14.02% แซงหน้า บล.ภัทร ( PHATRA)ที่เป็นแชมป์มานาน มีส่วนแบ่งตลาด 9.39%

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้น BBL ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เพราะเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้จัดประชุมนักวิเคราะห์นัดพิเศษ โดยบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 217 บาท/หุ้น มองว่าการซื้อกิจการจะเป็นบวกในระยะยาวกับ BBL  ส่วน ราคาหุ้น BTS และ VGI ปรับตัวลงแรง แนะนำ ถือ   ราคาพื้นฐาน13.85 และ 10.24 บาท แต่ราคาหุ้นที่ปรับลงมามาก กลับมามี upside บางส่วน ระยะสั้นจึงอาจเก็งกำไรได้
บล.เคทีบี (ประเทศไทย)ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” หุ้น BBL คงราคาเป้าหมายไว้ที่  185 บาท  หลังจากได้ข้อมูลจากผู้บริหารธนาคารกรุงเทพแล้ว ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น เรื่องการซื้อธนาคารอินโดฯ เป็นผลบวกต่อธนาคารระยะยาว

“ปัจจุบัน BBL มีเงินสดในมือเยอะและเชื่อว่าจะมีการขายตราสารหนี้บางส่วนออกมาในการซื้อแบงก์อินโดฯ ขณะที่แบงก์ในประเทศไทยเติบโตจำกัดทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและกฎข้อบังคับ ทำให้สินเชื่อและค่าธรรมเนียมเติบโตได้ยากมากขึ้น ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการนี้ถือว่าเป็นทางเลือกในการเติบโตของกำไรได้ทันที คาดว่าจะมี upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิในปี 2564 ราว 8.8% (ภายใต้สมมุติฐานดีลนี้เสร็จไตรมาส 3/2563) ด้านต้นทุนจะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น เชื่อว่า BBL จะทำ ROE ให้ได้ที่ 10% ภายใน 2 ปี จากไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 6% เพราะแบงก์อินโดฯอยู่ในช่วง turnaround  จากในปี 2559 ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วทั้งในเรื่องของกำไรและ NPL “บล.เคทีบีระบุ

ทางด้านเคจีไอ(ประเทศไทย) ยังคงแนะนำเพียงถือ BBL ราคาเป้าหมาย 198 บาท เพราะยังคงมองลบกับ BBL ในดีลนี้ ไม่คิดว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้มากนัก ในขณะที่แผนระยะยาว รวมถึงการปรับเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในระยะกลางก็ไม่ชัดเจน แถมยังมีความเสี่ยงในการดำเนินการ (execution risk) จากการที่ไม่สามารถเจาะตลาดท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมแตกต่างได้อีกด้วย ดังนั้น จึงมองว่า BBL เป็นหุ้นธนาคารใหญ่ที่ราคาถูก แต่แนวโน้มในระยะยาวก็ยังคงเผชิญความท้าทายจาก disruption ที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เนื่องจากราคาหุ้น BBL คิดเป็น P/E ต่ำเพียงแค่ 8 เท่า  และ P/BV แค่ 0.6 เท่าเท่านั้น

ทางด้านธนาคารกรุงเทพรายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน/2562 มีกำไรสุทธิ27,813 ล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 90,023 ล้านบาท โดยมากกว่า 50% เป็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 53,878 ล้านบาท ตามด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมแลับริการสุทธิ 20,319 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากการลงทุน เช่น กำไรสุทธิจากเงินลงทุน 4,776 ล้านบาท จากเงินปันผล 3,153 ล้านบาทและกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ 1,699 ล้านบาท

อ่านประกอบ

บิ๊กล็อต BTS 600 ล้านหุ้น ราคา 12.40 บาท ต่ำกว่ากระดาน มูลค่ากว่า 7.4 พันลบ.