ความจริงความคิด : ปลูกมะนาวดีกว่า

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

วุ่นกันไม่รู้จบกับภาษีที่ดินที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 แม้ว่าทางรัฐบาลจะประกาศเลื่อนการเสียภาษีจากเดือนเมษายนไปเป็นสิงหาคม แต่ไม่ได้เลื่อนการประเมินจากข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2563

ดังนั้น แม้ว่าจะเลื่อนหลายคนก็ไม่นิ่งนอนใจ คนที่ได้รับหนังสือแบบแจ้งข้อมูลรายการ (ปัจจุบันเห็นแต่ห้องชุดเท่านั้นที่ได้รับจดหมาย ส่วนบ้าน ที่ดินเกษตร ฯลฯ ยังไม่เห็นว่าจะได้รับหนังสือเลย) รีบไปแจ้งแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องดีกว่า เพราะส่วนใหญ่จะโดนประเมินเป็น “อื่นๆ” หมด ภาระภาษีอยู่ที่ 0.3% หรือ ล้านละ 3,000 บาท ทั้งที่จริงๆเป็น “บ้านหลังอื่น” ที่เราซื้อเพื่ออยู่เอง ภาระภาษีอยู่ที่ 0.02% หรือ ล้านละ 200 บาท ถูกกว่าถึง 15 เท่า

คนที่ได้รับหนังสือ ก็ดีไป คือ ชัดเจนดี เหมือนไม่สบาย รู้ว่าเป็นโรคอะไร การรักษาก็ง่าย แต่คนที่ไม่ได้รับหนังสืออย่างเช่น เจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือ ที่ดินเกษตร หรือบ้านเดี่ยวทั้งหลาย ก็ไม่รู้ว่าจะโดนประเมินว่าอะไร หลายคนก็งงว่าจะให้ทำอะไร จะให้อยู่เฉยๆ เกิดเดือนมีนาคมที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประเมินให้เสร็จ เกิดประเมินเป็นประเภทที่ดินที่เสียภาษีแพง อย่างเช่น “อื่นๆ” หรือ “รกร้างว่างเปล่า” เราจะแก้ไขได้หรือไม่ เพราะเลยกำหนดเวลา 1 มกราคม 2563 มาแล้ว ต้องรับสภาพตามที่ประเมินโดยปริยายรึเปล่า

และถ้าจะต้องยอมเสีย เพราะยังไงเราก็ขอภาษีคืนได้ ก็กฎหมายระบุไว้ว่ากรณีที่ผู้เสียภาษีเสียภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเสียภาษีเกินกว่าจำนวนที่ต้องเสีย ไม่ว่าโดยความผิดพลาดของตนเองหรือจากการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืน โดยผู้เสียภาษีต้องยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ชำระภาษี พร้อมทั้งส่งเอกสาร หลักฐาน หรือคำชี้แจงใด ๆ ประกอบด้วย แต่เราคงไม่อยากไปยุ่ง ขอภาษีคืน สู้ทำให้ถูกตั้งแต่เริ่มเลยดีกว่า

เราจึงเห็นหลายๆกรณีที่ปรับประเภทที่ดินของตนเอง เพื่อให้ประหยัดภาษีมากที่สุด และที่ทำกันเยอะสุด ก็คือเปลี่ยนที่รกร้างว่างเปล่าเป็นเกษตร ที่ฮีอฮามากสุด ก็คงเป็นที่ดินเปล่าใจกลางเมืองผืนใหญ่ ขนาด 24 ไร่ ติดถนนรัชดาภิเษก และติดทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งเป็นที่ดินของกลุ่มแหลมทองค้าสัตว์ที่มีมูลค่าเฉียด 1 หมื่นล้านบาท ได้มีการล้อมรั้ว และปรับพื้นที่ใหม่ จากการสอบถามผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้นระบุว่า ได้มีการปลูกต้นมะนาวร่วม 4,000 ต้น เพื่อต้องการจะเสียภาษีในประเภทเกษตรกรรม ตามกฎหมายใหม่ หากที่ดินมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท จะเสียภาษีที่ 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท ที่ 0.05% มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท 0.07% และมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 0.1% แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้น อปท.ละไม่เกิน 50 ล้านบาท ถูกกว่ากรณีเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ฐานภาษีเริ่มต้นที่ 0.3% มากมายแถมไม่มียกเว้น 50 ล้านบาทแรกด้วย

มองในกรณีนี้ ก็สงสัย การกำหนดโครงสร้างภาษีที่ดินแบบนี้ ทำให้คนสามารถบริหารจัดการภาษีได้ สุดท้ายเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ เพราะมองดูเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่ามาก เสียเงินทอง ทรัพย์สินโดยไม่ควรเสียจริงๆ

และก็สงสัยว่า การปลูกมะนาวในที่มูลค่าสูงขนาดนี้ จะช่วยประหยัดภาษีจริงหรือไม่ ก็เลยไปค้นหาความหมายของ “รกร้างว่างเปล่า” ตามกฎหมายภาษีที่ดินฯ พบว่าหมายถึง ที่ดินที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

1) ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หมายถึง ที่ดินที่โดยสภาพสามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หรือใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ กรณีที่ดินที่โดยสภาพแห่งพื้นที่นั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หรือเป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัยได้เพราะเหตุธรรมชาติในที่ดินนั้นตลอดปีที่ผ่านมา รวมถึงที่ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะเหตุอันพ้นวิสัยในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ถือเป็นที่ดินทิ้งไว้ว่างเปล่า

2) สิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หมายถึง สิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว หรือก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งปล่อยทิ้งร้างจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หรือใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัยได้ในตลอดปีที่ผ่านมา

3) ที่ดินที่ไม่ได้ทําประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หมายถึง ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หรืออยู่อาศัย แต่ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการประกอบเกษตรกรรม และกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยตลอดปีที่ผ่านมา

4) สิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ทําประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หมายถึง สิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างหรือปรับปรุงเสร็จแล้วและโดยสภาพสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมหรือใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัยในตลอดปีที่ผ่านมา

5) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ตามควรแก่สภาพไม่ให้หมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกรอนสิทธิในการใช้ประโยชน์โดยผลของกฎหมาย หรือโดยคําสั่งของศาลหรือคําพิพากษาของศาลห้ามมิให้ทําประโยชน์ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น

การปลูกมะนาวในพื้นที่ใจกลาง กทม. ที่เป็นข่าว ไม่รู้จะเข้าข้อ 3 หรือไม่ เพราะตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการประกอบเกษตรกรรม และกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยยังไม่ออกมา ดังนั้น เมื่อกฎหมายยังไม่ออกมา ผมอยากแนะนำให้อย่าเพิ่งลงทุนทำอะไรเลยจะดีกว่า เพราะอาจเสียเงิน เสียเวลาฟรีๆ อย่างกรณีนี้กลัวแทนเจ้าของที่จริงๆว่าจะปลูกมะนาวฟรีเปล่าๆ

1. ประกอบเกษตรกรรม เพดานภาษีไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี ประกอบเกษตรกรรมหมายถึง ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการประกอบการเกษตรตามนิยามคำว่า “ประกอบการเกษตร” ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่รวมถึงการทำ การประมง และทอผ้า ทั้งนี้ รายละเอียดตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการประกอบเกษตรกรรม พ.ศ. ….

2. อยู่อาศัย เพดานภาษีไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี อยู่อาศัย หมายถึง การใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นบ้าน ตึก ตึกแถว อาคาร โรงเรือน กระท่อม หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่มีลักษณะให้บุคคลใช้อยู่อาศัย และให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งได้ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกันกับที่อยู่อาศัยด้วย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของนำไปให้เช่าหรือหาประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน เว้นแต่การให้เช่านั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีการจดทะเบียนการเช่าเป็นระยะเวลาเกินกว่าสามปี

3. ใช้ประโยชน์อื่น เพดานภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี ใช้ประโยชน์อื่น หมายถึง การใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่เป็นการประกอบเกษตรกรรมหรืออยู่อาศัย เช่น ใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ หรือใช้ประกอบอุตสาหกรรม เป็นต้น

4. ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ เพดานภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษีเหมือนที่ดินประเภทใช้ประโยชน์อื่น แต่ต่างกันที่ อัตราภาษีที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จะเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมสูงสุดไม่เกิน 3% ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ หมายถึง ที่ดินที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

• ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หมายถึง ที่ดินที่โดยสภาพสามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หรือใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นตลอดปีที่ผ่านมา

• ที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หมายถึง ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หรืออยู่อาศัย แต่ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการประกอบเกษตรกรรม และกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยตลอดปีที่ผ่านมา

• สิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หมายถึง สิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างหรือปรับปรุงเสร็จแล้วและโดยสภาพสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมหรือใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัยในตลอดปีที่ผ่านมา

บริหารไม่ยาก แต่ที่ยังไม่ชัดเจนก็คือ ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแกสภาพ ต้องรอร่างกฎกระทรวงกำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพให้แน่ชัดก่อน ดังนั้นไม่ต้องรีบเสียภาษีจะได้บรรเทาภาระ ดังนี้

• ปีที่หนึ่ง ชำระแบบเดิม + 25% ของจำนวนภาษีส่วนต่าง
• ปีที่สอง ชำระแบบเดิม + 50% ของจำนวนภาษีส่วนต่าง
• ปีที่สาม ชำระแบบเดิม + 75% ของจำนวนภาษีส่วนต่าง
สรรพากรใจดีขนาดนี้ กฎหมายชัดเจนเมื่อไหร่ ก็อย่าชะล่าใจ ไปทำปีสุดท้ายนะ เดี๋ยวใม่ทัน โดนภาษีแพง จะมาร้อง “รู้งี้อีก”