ปีหมูไม่หมู หุ้น IPO ปี 62 ชู “กรีนชู” รักษาเสถียรภาพราคา

HoonSmart.com>>ปี 2562 กำลังจะผ่านไป ได้เห็นหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) เข้าจดทะเบียน ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เกือบ 30 ตัว โดยมีหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีพื้นฐานโดดเด่น ผลงานดี ดำเนินธุรกิจมานานหลายสิบปี มูลค่าการเสนอขายหุ้นมากถึง 3-4 หมื่นล้านบาทเข้าซื้อขายใน SET 2 บริษัท คือบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) และ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ชื่อคุ้นหูกันดีสำหรับนักลงทุน ทั้งสายลงทุนปัจจัยพื้นฐานดี หรือเทคนิคเคิล

หุ้นทั้งสองตัว มีความแตกต่างจาก IPO ตัวอื่นๆ คือ มีการเสนอขาย IPO พร้อมกรีนชู ออพชั่น หรือ Greenshoe Option ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะที่ผ่านมา เช่น ในปี 2561 หุ้นบริษัท โอสถสภา (OSP) ก็ได้นำมาใช้ สำหรับการเข้าซื้อขายวันที่ 17 ต.ค. 2561 ในช่วงแรกราคาต่ำกว่า IPO ที่ 25 บาท แต่ปัจจุบันขึ้นมาอยู่บริเวณ 40 บาท เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน

กรีนชู หรือเจ้ารองเท้าเขียวคืออะไร เชื่อว่านักลงทุนคงเคยได้ยิน และพอจะเข้าใจความหมายอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เคยรู้เคยเข้าใจมานั้นถูกต้องหรือไม่ ลองมาหาคำตอบกันดีกว่า

จากการสอบถาม กูรู หรือผู้รู้ ทั้งหลายว่า Greenshoe Option  มีไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ถ้าหุ้นต่ำกว่าราคาจอง รองเท้าเขียว อาจมีส่วนช่วยให้ราคาหุ้นเด้งดึ๋งกลับไปใกล้เคียงราคาเสนอขาย IPO แต่การเป็น  Option หมายความว่ามีสิทธิที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้ก็ได้

Greenshoe Option หรือบางครั้งที่เรียกว่า การจัดหาหุ้นส่วนเกิน คือ การให้สิทธิแก่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) ในการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนมากกว่าที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งผู้จัดจำหน่ายได้รับสิทธิจากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ในการเข้าซื้อหุ้นในตลาด เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างเสถียรภาพของราคา ในช่วง 30 วันแรกหลัง IPO แต่การดำเนินการต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินห้ามเข้าไปซื้อหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทผู้ให้ Greenshoe Option เหนือราคา IPO หรือทำการใดๆ ที่เป็นการชี้นำราคาตลาด (Market Manipulation) การทำหน้าที่เป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาในกรณีที่ตลาดอาจมีความผันผวนในช่วงแรกๆ ของการเข้าตลาดเท่านั้น

โดยสรุปก็คือ การมี Greenshoe Option เป็นกลไกการรักษาระดับของราคาหลักทรัพย์ที่เสนอขายในช่วงระยะเวลาที่เริ่มทำการซื้อขายในตลาดฯ ระยะแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความผันผวนทั้งราคาและมูลค่าการซื้อขาย  นับเป็นหนึ่งในกลไกที่มีส่วนช่วยให้การเสนอขายหลักทรัพย์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม Greenshoe Option ไม่สามารถรับประกันได้ว่า หุ้น IPO จะไม่ต่ำลงกว่าราคา IPO แต่อย่างน้อย นักลงทุนก็อุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่ามีกลไกรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น