Spin-off ดีต่อแม่-ลูก แต่อย่าหวังสูง..

ในปี 2563 น่าจะเป็นปีที่มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) Spin-off หรือแยกนำบริษัทย่อยเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มากที่สุดปีหนึ่ง ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว การเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) จะเป็นผลดีต่อทั้งบริษัทลูกและบริษัทแม่ แต่มูลค่าเพิ่มอาจจะไม่มากอย่างที่นักลงทุนคาดหวังไว้ก็เป็นไปได้ ดังนั้นอย่าไล่ราคาหุ้นบจ. เพื่อหวังผลเก็งกำไรสูงจนเกินไป

ปัจจุบันมีบจ.อย่างน้อย 5 บริษัท ประกาศว่าจะนำบริษัทลูกเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) นำเสนอบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ส่งหุ้น บริษัท ศรีตรังโกลฟท์(STGT) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)เสนอขายบริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์(TFM) บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART)นำเสนอบริษัทสามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) และบริษัท ปตท.(PTT) ส่งบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เข้าตลาดหุ้น

บริษัท TU และ SAMART จะได้สองเด้ง ทั้งมูลค่าเพิ่มและกำไรจากการขายหุ้นครั้งนี้ เนื่องจากนำหุ้นที่ถืออยู่ออกมาร่วมจำหน่าย IPO ด้วย ในส่วนของ TU ขายจำนวน 19.30 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 2 บาท ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่ที่สุด สัดส่วน 66.90% ของธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ในราคาทุน 960.95 ล้านบาท ซึ่งเมื่อปี 2561 ได้รับเงินปันผลจำนวน 617 ล้านบาท และ 9 เดือน/2562 รับอีก 411 ล้านบาท

ส่วน SAMART ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะร่วมขายหุ้นด้วยเท่าไร จากการถือหุ้นสามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ทั้งหมดทางอ้อมผ่านทางบริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด 66.67% และบริษัท สามารถ อินเตอร์ โฮลดิ้ง 33.33% ธุรกิจมีแนวโน้มสดใส ทั้งนี้ SAV ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (โฮลดิ้ง) เน้นการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ปัจจุบันถือหุ้น 100%ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จํากัด (CATS) บริษัทสัญชาติกัมพูชาที่ประกอบธุรกิจให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาแต่เพียงผู้เดียว ปัจจุบันมีสนามบินทั้งหมด 6 แห่งทั้งในและระหว่างประเทศ ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ สนามบินนานาชาติสีหนุ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง

สำหรับบริษัท SCC ,STA และ PTT ได้มูลค่าเพิ่ม โดยนักวิเคราะห์บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) คาดว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจะมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 13,200-22,800 ล้านบาท คิดเป็น 11-19 บาทต่อหุ้น หลังจาก IPO ธุรกิจแพคเกจจิ้ง SCGP ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูง จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัด สามารถระดมทุนได้เอง ช่วยให้มีการเติบโตโดดเด่นมากขึ้น จากการขยายกำลังการผลิต และเข้าซื้อกิจการ ประเมิน SCGP ควรจะซื้อขาย P/E 18 เท่า เทียบกับอยู่ภายใต้ SCC ที่ซื้อขาย P/E 12-13 เท่า ทั้งนี้ SCGP จะออกและเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 1,194.8 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นไม่เกิน 27.7% ของจำนวน 3,126 ล้านหุ้น กรณีมีผู้จองซื้อจำนวนมากอาจจะจัดสรรหุ้นส่วนเกินอีก 179.2 ล้านหุ้น รวมเป็นหุ้น IPO 1,374 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% ของทุนชำระแล้ว

“SCGP มีศักยภาพที่จะโตสูง จากให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีกำลังการผลิตรวม 4 ล้านตันต่อปี และ เป็นผู้ผลิตกระดาษกล่องลูกฟูกรายใหญ่ที่สุดของอาเซียน มีกำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านตันต่อปี ผลงานในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเด่น ยอดขายโตเฉลี่ย 7% EBITDA โต 8% และกำไรโต 10% ส่วนปี 2563-2564 เบื้องต้นเราประเมินกำไร SCGP ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท เทียบกับกำไรปี 2562 ประมาณ 5,500-6,000 ล้านบาท ที่ P/E 18 เท่า จะมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 126,000-144,000 ล้านบาท เทียบกับอยู่ภายใต้ SCC จะมีกำไรปี 2563-2564 ที่โตน้อยกว่า 6,000-6,500 ล้านบาท และซื้อขาย P/E ต่ำกว่า 12-13 เท่า จะมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 75,000-78,000 ล้านบาท การแยกธุรกิจแพคเกจจิ้ง ช่วยคานปัจจัยลบ ธุรกิจปิโตรเคมีเข้าสู่ภาวะขาลงรุนแรงมากขึ้น เราคงคำแนะนำถือ หุ้น SCC ประเมินราคาเป้าหมาย 420 บาท” บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ระบุ

ที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า การปรับโครงสร้างการถือหุ้นและปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าและการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ บริษัทแม่ไม่ต้องเตรียมสภาพคล่องส่วนเกินไว้ ขณะที่ลูกมีความแข็งแกร่ง สามารถระดมเงินที่มีต้นทุนต่ำลงได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเสนอขายหุ้น IPO ให้สำเร็จ ยังมีตัวแปรหลายปัจจัย ต้องให้ความสำคัญกับภาวะตลาดหุ้น และกำไรของบริษัทลูก หากพื้นฐานไม่ดีจริง การขายหุ้นให้ได้ราคาคงจะยากมากในปีนี้

นอกจากนี้การเติบโตในระยะยาว บริษัทลูกต้องใช้เวลาในการปรับตัว และยังต้องหาโมเดลธุรกิจที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ได้ แม้ว่าผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา 4 ปี (2559-2562) บริษัทแต่ละแห่งมีกำไรที่ดีก็ตาม แต่ไม่ใช่คำตอบว่าอนาคตจะขยายตัวต่อเนื่องได้ เหมือนที่เห็นตัวอย่างจากการ Spin-off ของบริษัทหลายแห่งที่ผ่านมา  บริษัทลูกกลับคลานต้วมเตี้ยม  แต่ก็มิใช่ว่าความสำเร็จจะไม่ปรากฎให้เห็นเลย  กลุ่มปตท.เป็นตัวอย่างที่ดีในการแตกบริษัทลูกแล้วนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สร้างการเติบโตได้เร็วกว่าที่อยู่ในอ้อมอกแม่ …