ผู้ประกอบการพลาสติกดิ้นปรับตัว หนีนโยบายรัฐสั่งเลิกใช้ถุง

HoonSmart.com>>2 บจ. ผู้ผลิตถุงพลาสติก “ TPBI-TPLAS”  หวั่นผลกระทบวงกว้าง จากมาตรการเลิกใช้ถุงพลาสติกในโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อ ชี้ผู้ผลิตรายเล็ก ส่อปิดกิจการตามมาอีกมาก เชื่อซ้ำเติมกำลังซื้อ ด้าน TPBI  มั่นใจปี 63 ฟื้นตัวหลังจาก 3 ปีก่อนผ่านการปรับตัวมาแล้ว ส่วน TPLAS  ปรับตัวเพิ่มไลน์ผลิตและใช้นโยบายช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ผลิตรายเล็ก

นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ (TPBI) เปิดเผย www.Hoonsmart.com ว่า บริษัท ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเลิกใช้ถุงพลาสติกเมื่อต้นปี 2563 ของโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อนัก เนื่องจากบริษัท ได้ปรับตัวไปก่อนหน้าเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เพราะผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกส่วนใหญ่ของบริษัท 70 % ส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ จึงรู้สถานการณ์ความต้องการของลูกค้า โดยปรับตัวลงทุนเครื่องจักรใหม่ ฝึกทักษณะเรียนรู้พนักงาน ซื้อกิจการในต่างประเทศ และหันไปผลิตถุงบรรจุผลไม้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ผลิตถุงใช้ซ้ำ ( Soft Loop ) รวมถึงถุงขยะ  ส่งผลให้รายได้จากถุงหูหิ้วจาก 60 % เหลือ 15 % ไปเพิ่มสัดส่วนรายได้จากไลน์ผลิตใหม่แทน

” TPBI  ได้รับผลกระทบมาแล้วตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่ปรับตัวไปเรื่อย ๆ ทำให้ขาดทุน ปีที่ผ่านมา ดีขึ้นแต่ยังติดลบ  ปี 2563 เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว หลังจากหันไปทำถุงซอฟ ลูฟ ที่มีความหนา ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ถุงผลไม้ ถุงขยะและถุงกระดาษ เพื่อชดเชยถุงหูหิ้ว”

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการรายเล็กมีตลาดในไทย ซึ่งหลายโรงงานทำถุงพลาสติกหูหิ้ว อยู่ในสถานะการลำบาก ตั้งรับไม่ทันกับการปรับตัว เงินทุนไม่มี มีโอกาสปิดตัว

“ขณะนี้ยังฝุ่นตลบ เพราะผลกระทบมาเร็วกว่าที่คิด 2 ปี จากเดิม 2565 ทำให้ปรับตัวกันไม่ทันทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ต้องใช้เวลาอีกสักนิด หาวิธีดีที่สุด ซึ่งวิธีที่ดีต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายธีระชัย ธีระรุจินนท์  ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก ( 1994 ) หรือ TPLAS กล่าวว่า บริษัท ฯ ผ่านการปรับตัวครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการงดใช้ถุงพลาสติกไม่ได้กระทบเฉพาะผู้ผลิตรายเล็กเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แม้ว่าโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ จะลดต้นทุนถุงพลาสติกได้  แต่ผลกระทบมากกว่า คือ กำลังซื้อที่ลดลง เป็นความเสียหายที่มีมูลค่ามากกว่าการงดใช้ถุงพลาสติก  รวมทั้งผลกระทบกับนักศึกษาวิศวปิโตรเคมี อีกหลายพันคน

” ผมเป็นห่วงผลที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตถุงรายเล็กที่ปิดตัว คุณภาพชีวิตของคนที่ตกงานจากการปิดกิจการ , กำลังซื้อที่แย่หนักขึ้นไปอีก  และเด็กสายปิโตรเคมี ที่กำลังศึกษาอีกหลายพันคน  ระบบนิเวศน์จากการตัดไม้มาทำกระดาษ ”

สำหรับการปรับตัวของ TPLAS เนื่องจากส่วนใหญ่ 60 % ผลิตถุงบรรจุอาหาร หรือถุงแกง และ 20 % ของการผลิตเป็นถุงหูหิ้ว จำหน่ายในตลาดสด หรือตลาดล่าง ขณะนี้ได้ยินข่าวถุงใสบรรจุอาหาร จะเรียกผู้ประกอบการหารือเดือนม.ค.นี้

” สถานการณ์นี้ ไม่กระทบการดำเนินงาน เพราะได้ปรับตัวเพิ่มไลน์กลุ่มกระดาษ แบบระมัดระวัง ไม่กล้าเร่ง หากวิกฤตเศรษฐกิจไม่เพิ่มขึ้นอีก ก็ไม่น่ากังวล ฐานการเงินแข็งแกร่ง ยังปรับตัวทำอะไรได้ แต่บริษัทขนาดเล็ก เงินทุนไม่แข็งแรง ปรับตัวไม่ทัน จะปิดตัวอีกมาก บริษัทผมในฐานะผู้ประกอบการใช้นโยบายช่วยเหลือเพื่อนในอุตสาหกรรมเดียวกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำโออีเอ็มรับจ้างผลิต” นายธีระชัย กล่าว