กองทุนกสิกรฯ ไล่เก็บ BAM 5% 9 สถาบันซื้อ IPO โกยกำไร 1.9 พันลบ.

HoonSmart.com>> แรงส์จริง! บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 16 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา แต่ราคาเพิ่งขึ้นร้อนแรงเมื่อต้นปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 7 ม.ค. นี้ ราคาปิดที่ 21.20 บาท เพียง 15 วันทำการเท่านั้น แจกผลตอบแทนสูงถึง 21.14% หรือหุ้นละ 3.70 บาท ให้กับนักลงทุนที่จองซื้อหุ้น IPO ที่ 17.50 บาท

ปรากฎตัวออกมาแล้วว่า แรงซื้อมาจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย วันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้หุ้น BAM จำนวน 10,173,100 หุ้น คิดเป็น 0.3374% ส่งผลให้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 155,681,300 หุ้น หรือ 5.1635% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

การถือหุ้นแตะ 5% แสดงว่า บลจ.กสิกรไทย ในฐานะผู้รายงาน ได้ทยอยซื้อเก็บหุ้น BAM ใส่เข้ากองทุนภายใต้การบริหารมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพราะจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ ณ วันที่ 11 ธ.ค.2562 พบว่ามี 3 กองทุนของบลจ.กสิกรไทย จองซื้อ IPO ถือหุ้นรวมกันเพียง 1.78% ประกอบด้วย กองทุนเปิด เค หุ้นระยะยาวปันผลถือ 19.09 ล้านหุ้น เท่ากับ 0.63% กองทุนเปิด เค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผลถือ 17.53 ล้านหุ้น หรือ 0.58% และกองทุนเปิด เค 70:30 หุ้นระยะยาวปันผล ถือ 17.27ล้านหุ้นหรือ 0.57%

ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ยังคงเป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่เคยถือหุ้นทั้ง 100% หลังเสนอขายหุ้น IPO และหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) คงเหลือจำนวน 1,250 ล้านหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 41.46% ทั้งนี้บล.ทรีนีตี้ หนึ่งในที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำอันเดอร์ไรท์หุ้นมีเวลาในการซื้อหุ้นจำนวน 230 ล้านหุ้นเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกิน วันที่ 14 ม.ค. 2563

 

สำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เหลืออีก 9 รายเป็นนักลงทุนสถาบันที่จองซื้อ IPO อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส หรือ UBS SECURITIES PTE LTD ถือเป็นอันดับสอง จำนวน 322.25 ล้านหุ้น รวม 10.69% ซึ่ง UBS เป็นผู้นำหุ้น BAM ออกไปโรดโชว์ และเสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ หุ้น10%คงเป็นการถือหุ้นแทนนักลงทุนต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นการลงทุนของพอร์ตบล.ยูบีเอสเอง ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่สามถึงสิบ เป็นนักลงทุนสถาบันไทย รวมถึง 3 กองทุนของบลจ.กสิกรไทยด้วย

สถาบันทั้ง 9 ราย จองซื้อหุ้น IPO ที่ราคา 17.50 บาท เชื่อว่ายังคงถือจนถึงวันที่ 7 ม.ค.2562 ซึ่งราคาทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง (นิวไฮ) ปิดที่ 21.20 บาท ทำให้มีกำไรรวมทั้งสิ้น 1,895 ล้านบาท

แต่น่าหาคำตอบว่า ทำไมนักลงทุนสถาบัน อย่างกองทุนกสิกรไทย ถึงให้ความสนใจเข้ามาซื้อหุ้น BAM จำนวนมาก รวมถึงสถาบันอีกหลายรายที่ยังไม่เปิดตัว เพราะถือหุ้นไม่ถึงเกณฑ์รายงานการได้มา-จำหน่ายไป แตะทุก ๆ 5% ของทุนเรียกชำระแล้ว

BAM มีที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำอันเดอร์ไรท์เตอร์ 2 ราย คือบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย และบล.ทรีนีตี้

ที่ผ่านมา บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ชูจุดขาย ที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือบริหารสินทรัพย์มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้โมเดลธุรกิจยังสามารถเติบโตได้ทั้งยามเศรษฐกิจดีและไม่ดี

ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวลงในปัจจุบัน จะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ออกมาขายจำนวนมาก ส่วนในช่วงเศรษฐกิจดี ลูกค้าก็มีกำลังซื้อสินทรัพย์รอการขาย (NPAs) หรือมีอำนาจในการผ่อนชำระดีขึ้น และที่สำคัญ BAM เป็นธุรกิจที่มีลูกค้ารายใหญ่เข้ามาและสามารถแก้ไขได้สำเร็จ ทำให้บริษัทมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลสูงที่สม่ำเสมอ

เช่นเดียวกับผลการดำเนินงานในปี 2562 ในช่วง 9 เดือนแรก บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท คิดเป็นกำไรหุ้นละ 1.79 บาท กำไรสุทธิพุ่งขึ้นถึง 47.49% เมื่อเปรียบเทียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 3,310 ล้านบาท คิดเป็น 1.21 บาทต่อหุ้น เพราะสามารถขายที่ดินแปลงใหญ่ของบริษัทกฤษดามหานครออกไปได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการสร้างผลงานที่เติบโตโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 มีกำไรทั้งสิ้น 5,202 ล้านบาท และปี 2560 ทำได้จำนวน 4,500 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มในปี 2563 คาดว่ากำไรก็มีโอกาสเติบโตสูงเหมือนที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากทรัพย์สินที่ประมูลมาได้ในราคาต่ำ จากประสบการณ์ของผู้บริหารและทีมงานมากกว่า 20 ปี  รวมถึงระบบที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูง ผลสุดท้ายก็จะส่งมอบผลประโยชน์กลับคืนให้ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผลที่ดี  น่าจะเป็นคำตอบที่จูงใจให้นักลงทุนสถาบันซื้อหุ้น BAM เก็บไว้ลงทุนรับเงินปันผลสูงในระยะยาว…