6 ปัจจัยบวก หนุนหุ้นพุ่ง 20 จุด แบงก์กำไรโต ยก BBLเด่น ปันผลสูง

HoonSmart.com>>ข่าวบวกถาโถมเข้าตลาดหุ้น ดันดัชนีทะยาน 20 จุด ความขัดแย้งอิหร่านไม่รุนแรง จีนยกทัพเซ็นข้อตกลงการค้ากับสหรัฐเฟสแรก โหวตผ่านงบปี 63 วงเงินสูงกว่า 3.2 ล้านล้านบาท ธปท. เล็งผ่อนคลายกฎเกณฑ์การไหลออกของเงินทุนเพิ่มเติม ลดการแข็งค่าของเงินบาท เคจีไอคาดแบงก์โชว์ไตรมาส 4 กำไรสุทธิรวมเพิ่มขึ้น 18% บล.ไทยพาณิชย์มองหุ้นบวก 6 เดือนแรก เป้าสิ้นปี 1,750 จุด ไตรมาส 1 เชียร์หุ้นวัฏจักรกำไรโต มูลค่าน่าสนใจ IVL-TOP-TCAP, BBL-BCH-BTS-BEM บล.ไอร่าชี้เป้า 1,560-1,760 จุด ส่วนปัจจัยลบ จับตาหุ้นถูกชอร์ตเซลเยอะ ขึ้นช้ากว่ากลุ่ม นำโดย EA ภัยแล้งรุนแรงในรอบ 40 ปี ต้องปรับพอร์ตรับมือผลกระทบและหาโอกาสลงทุน

หุ้นวันที่ 9 ม.ค. 2563 วิ่งขึ้นตามต่างประเทศ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์รีบาวด์แรง 20.37 จุด หรือ 1.31% ปิดที่ 1,579.64 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 66,545 ล้านบาท โดยสถาบันในประเทศกลับมาซื้อ 1,261 ล้านบาท แต่ต่างชาติขายออก 1,413 ล้านบาท หลังจากเมื่อคืนนี้สหรัฐประกาศว่าจะไม่ใช้ปฎิบัติการทางการทหารตอบโต้อิหร่าน แต่อาจใช้มาตรการคว่ำบาตรแทน และเหตุการณ์ที่อิหร่านยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพสหรัฐในอิรักก็ไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลว่าจะเกิดความรุนแรง และใกล้ถึงวันทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเฟสแรกในสัปดาห์หน้า จึงมีแรงซื้อหุ้นใหญ่หลายกลุ่ม แต่ขายหุ้นพลังงานทำให้อ่อนตัวลงตามราคาน้ำมันดิบ

บล.กสิกรไทย วิเคราะห์ว่าตลาดหุ้นรีบาวด์ เพราะในระยะสั้นเชื่อว่าสถานการณ์ตะวันออกกลางจะไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ แนะนักลงทุนจับตาการเริ่มโหวตพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 วาระ 2 และ 3 วงเงินสูงกว่า 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะใช้เวลาอภิปรายและโหวตในวันที่ 8-10 ม.ค. เชื่อว่าพ.ร.บ.จะถูกโหวตผ่าน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งผลทางตรงต่อการลงทุนในประเทศ, ช่วยเร่งการนำเข้าเครื่องจักรมาลงทุนเมกะโปรเจกต์เพื่อลดความกังวลผ่อนคลายค่าเงินบาท และอื่นๆอีกมาก

กลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทยแนะเก็งกำไรหุ้นที่ปรับตัวลงมาก่อนหน้า เช่น AOT, KCE และกลุ่มก่อสร้าง อย่าง STEC, CK, SEAFCO  แต่ PTTEP , PTT อาจเผชิญกับแรงขายหลังราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงจากความกังวลในตะวันออกกลางคลี่คลายลง

นอกจากนี้จากการศึกษาถึงผลตอบแทนของตลาดในช่วงไตรมาสแรกของปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินโลกในปี 2551 พบว่าดัชนีหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกติดต่อกันถึง 10 ปี เฉลี่ย 6% และหากวัดผลตอบแทน SETHD ย้อนหลัง 5 ปี สถิติค่อนข้างดีเฉลี่ยเด่นกว่า 7% เมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นที่ 4% แนะนักลงทุนเริ่มสะสมหุ้นกลุ่มปันผลในเดือน ม.ค. และขายเดือน เม.ย. นำโดย PTTGC เป้าหมาย 63.50 บาท , BCP เป้า 31.50 บาท , AP เป้า 7.50 บาทและ LH เป้า 11.20 บาท

ทางด้านธนาคารกสิกรไทยรายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีแผนจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์การไหลออกของเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท อาทิ ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ขยายวงเงินที่ผู้ส่งออกสามารถคงรายได้ในต่างประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อใบขน จากก่อนหน้านี้ที่ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะครอบคลุม 80% ของการส่งออก นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีแรก ผ่อนคลายเกณฑ์การฝากรายได้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อให้บริษัทท้องถิ่นและบุคคลทั่วไปสามารถฝากเงินตราต่างประเทศในบัญชี FCD ได้และผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศของบริษัทประกัน

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) แถลงว่า บรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นในตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยกระตุ้นจากความตึงเครียดทางการค้าที่ผ่อนคลายลง นโยบายการเงินผ่อนคลาย เสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการกลับมาเก็บสะสมสินค้าคงคลัง แต่ความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตามยุคสมัย สังคมผู้สูงอายุ และหนี้ครัวเรือน ยังไม่หมดไป เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยต่ำและการเติบโตต่ำ แม้ว่าจะมีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับการลงทุนทั่วโลกในระยะสั้น แต่ยังคงมุมมองเชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2563 ส่วนปัญหาความขัดแย้งที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นช่วงๆ  คงไม่ถึงขั้นเกิดสงคราม หากจะยุติความขัดแย้งได้ ต้องมีการเจรจากันอย่างเป็นทางการ ในช่วงนี้ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง

” บล.ไทยพาณิชย์ให้เป้าหมายดัชนีหุ้นปีนี้ที่ 1,750 จุด แนวรับอยู่ที่ 1,550 จุด ถือว่าไม่ได้แย่มาก กำไรของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น จากฐานที่ต่ำของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี คาดกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 101 บาท รวมถึงราคาน้ำมันดิบมองไว้ที่ 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่จากเหตุการณ์ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศเลยคาดการณ์กรอบน้ำมันดิบที่ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในปีที่ผ่านมา จากสงครามการค้าเริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่ปัญหาภัยแล้ง กระทบถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน คาดเศรฐกิจปีนี้ขยายตัว 2. 8% “นายสุกิจกล่าว

อย่างไรก็ตามมีความกังวลเกี่ยวกับ 3 ปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลัง จะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย คือ 1. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพ.ย.อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายสำหรับภูมิภาคและโลก 2.ตลาดอาจจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย อาจจะเปลี่ยนเป็นมาตรการกระตุ้นทางการคลัง  และ 3.ตลาดสินเชื่ออาจจะเปลี่ยนมามีสภาวะที่เอื้ออำนวยลดน้อยลง หลังจากขยายตัวรวดเร็วในหลายประเทศ (โดยเฉพาะในเอเชีย) และมีความกังวลเกี่ยวกับ การผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในจีน เป็นความเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่งในตลาดสินเชื่อของเอเชีย

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 1/25631 แนะนำการลงทุนเพิ่มในวัฏจักรที่กำไรมีแนวโน้มเติบโตได้ดี และการประเมินมูลค่าหุ้นน่าสนใจ เช่น ปิโตรเคมี (IVL) , กลุ่มโรงกลั่น (TOP) ,กลุ่มธนาคาร (TCAP,BBL) และกลุ่มการแพทย์ (BCH) เพิ่มเติมสำหรับกลุ่มขนส่งที่มีความมั่นคงจากปัจจัยพื้นฐาน และการขยายเส้นทางขนส่งเพิ่มเติม (BTS,BEM)

ฝ่ายวิจัย บล.ไอร่า (AIRA) คาดเป้าหมายหุ้นสิ้นปีนี้ภายใต้กรอบ 1,560-1,760 จุด ประเมินจากกำไรต่อหุ้น ที่ 97.70 บาท เติบโต 4.5% ตามเศรษฐกิจ 3 % บวกลบ จากปัจจัยบวกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนคลี่คลายลง ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะขยายตัว 2.7% ดีขึ้นเล็กน้อยจาก 2.6% ในปี 2562

กลยุทธ์การลงทุน จึงแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่ม Global Play (พลังงาน โรงกลั่น และ ปิโตรเคมี) อาทิ PTTEP, PTTGC, TOP, SPRC และ IVL เนื่องจากเป็นหุ้นที่อิงกับปัจจัยต่างประเทศ จากสถานการณ์สงครามทางการค้ากลับมามีสัญญาณเชิงบวกอีกครั้งและราคาน้ำมันที่มีโอกาสปรับขึ้นจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางกลุ่ม Health Care Play (โรงพยาบาล) อาทิ BCH, CHG และ RJH ในฐานะ Defensive Stock จากรายได้ที่สม่ำเสมอ  กลุ่ม Domestic Play เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จากโครงการขนาดใหญ่ที่คาดทยอยเปิดประมูลในปีนี้ มูลค่ารวมประมาณ 750,000 ล้านบาท โดยเฉพาะรับเหมารายใหญ่ เช่น STEC, CK และ UNIQ รวมถึง SEAFCO

กลุ่มที่อยู่อาศัย จาก P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และแนวโน้มเงินปันผล สูงประมาณ 6-7% ที่น่าสนใจ เช่น SPALI และ AP เป็นต้น และสุดท้าย กลุ่มที่มีความน่าสนใจเฉพาะตัว จากผลประกอบการที่ฟื้นตัวโดดเด่น และมีโอกาสทำ New High ต่อเนื่อง เช่น CBG และ CPF เป็นต้น

บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เหมือนเดิม คาดว่าไตรมาส 4/2563 กำไรสุทธิรวมจะเพิ่มขึ้น 18%จากไตรมาส 4 ของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.3% ในปี 2562 จากฐานกำไรที่ต่ำของหลาย ๆ ธนาคาร คาดว่ากำไรจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายกันสำรองที่เพิ่มขึ้น เป็นห่วงคุณภาพสินทรัพย์ของ SCB และ TMB เนื่องจากมีส่วนรองรับหนี้เสียต่ำ และกำไรจากการค้าหลักทรัพย์ก็น้อย คาดว่ากำไรสุทธิปี 2562 น่าจะต่ำกว่าประมาณการของเราประมาณ 2% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก KBANK และ SCB ในขณะที่ BBL น่าจะออกมาดีกว่าประมาณการของเรา ทั้งนี้ กลุ่มธนาคารต้องเผชิญกับกระแสข่าวลบมาเรื่อย ๆ จนราคาหุ้นปรับลดลงมาก คิดเป็น P/E แค่ประมาณ 8-9 เท่า และ P/BV ที่ 0.8 เท่า เท่านั้น

“กำไรไตรมาส 4 จะลดลง 4.6%จากไตรมาส 3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยเต็มไตรมาส แต่มีการรับรู้กำไรจากการลงทุน อาทิ BBL 6,000 ล้านบาท และ KTB, SCB, KBANK, TMBแห่งละ 1,0000 ล้านบาท จะชดเชยยอดกันสำรองที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ NPL ของธนาคารส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาส 3 และน่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราใกล้เคียงกันในระยะต่อไป ส่วนโครงสร้างกำไรของ TCAP และ TMB เปลี่ยนแปลงไปหลังการทำดีล M&A เสร็จเรียบร้อยเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2562 คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำ M&A เพิ่มอีก จึงคาดว่ากำไรสุทธิน่าจะลดลง 31% แต่คาดว่าผลกำไรของ TMB น่าจะ overshoot จากการรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตในเดือนธันวาคม 2562 เข้ามาไว้ในงบรวมของธนาคาร “บล.เคจีไอระบุ

สำนักข่าว Bloomberg รายงานการให้สัมภาษณ์ของนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ทางโทรทัศน์ของ Bloomberg ว่า ข้อตกลงซื้อธนาคาร Permata PT Bank ของอินโดนีเซียมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยยกอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นและจะไม่เสี่ยงต่อการจ่ายเงินปันผล

“ เราเชื่อว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของอินโดนีเซียด้วยรูปแบบประชากรที่ดี การรวมกันของทั้งสองธนาคารจะสามารถนำไปสู่
เป็นการตอบแทนที่ดี” สำหรับผู้ถือหุ้น และให้คำมั่นว่าจะรักษาเงินปันผลไว้ที่หุ้นละ 6.50 บาท และจะไม่ต้องการทุนใหม่”

นายชาติศิริกล่าวอีกว่าการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารในไทยคือ“ หลีกเลี่ยงไม่ได้” รัฐบาลพยายามสนับสนุนการควบรวมกิจการ เพื่อให้ธนาคารมีขนาดใหญ่และแข่งขันได้มากขึ้น ธนาคารทหารไทยรวมธนาคารธนชาต  สร้างธนาคารใหญ่อันดับหกของประเทศ

ธนาคารไทยกำลังพยายามปรับปรุงบริการดิจิตอลท่ามกลางเพิ่มการแข่งขันจาก บริษัท เทคโนโลยีทางการเงินธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีและความสัมพันธ์กับ บริษัท เทคโนโลยีเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพซื้อบริษัท fintech แต่ธุรกิจแบงก์เผชิญกับรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงและอาจได้รับแรงกดดันมากขึ้นหลังจากธปท.ได้ออกกฎระเบียบเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริการบางอย่างไปบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากถึง 20 จุด หรือ 1.31% เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่มีหุ้นหลายตัวที่ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาด หรือกลับลดลง เช่น ธนาคารกสิกรไทย ลดลง 1.50 บาทปิดที่ 138.50 บาท  เพราะได้รับผลกระทบจากคำสั่งลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้กับ SME แล้ว  รวมถึงยังเป็นหุ้นแบงก์ที่มีการขายล่วงหน้าหรือชอร์ตเซลสูงตัวหนึ่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา คิดสัดส่วน 12.33% จากปริมาณชอร์ตเซล 2.04 ล้านหุ้น มูลค่า 284 ล้านบาท ขณะที่การบินไทย (THAI)มีสัดส่วนชอร์ตเซลต่อปริมาณการซื้อขายหุ้นการบินไทยสูงที่สุด สัดส่วน 26.485 ตามด้วย HANA 17.29% EA สัดส่วน 16.72% ทำให้ EA ปรับตัวขึ้น 1.30% ปิดที่ 39 บาท น้อยกว่าราคาหุ้นไฟฟ้าหลายตัว เช่น GULF เพิ่มขึ้น 3.26% หรือ 5.50 บาท ปิดที่ 174 บาท

นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ก็ส่งผลกระทบต่อราคาและผลผลิตทางการเกษตร โดยบล.ฟินันเซียไซรัส คาด CPF ได้ประโยชน์จากราคาเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และ TTW ขายน้ำประปาได้มากขึ้น รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม ก็จะดีขึ้นด้วย แต่ค้าปลีกได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้ยอดขายของสาขาเดิมลดลง ยกเว้น CPALL และ MAKRO ที่ยังสามารถเติบโตได้ ขณะเดียวกันบล.เอเซียพลัสมีการปรับพอร์ต เพิ่มน้ำหนัก EASTW ที่จะขายน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น