ความจริง ความคิด : วางแผนเกษียณด้วยประกันสังคม

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

หลายๆท่านที่เริ่มเกษียณ สิ่งแรกที่จะมองหากันก่อนก็คือ จะหาเงินใช้ในยามเกษียณจากที่ไหน เพราะตอนนี้ไม่มีเงินได้อีกแล้ว (สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีรายได้อื่นอีกเลย) แต่ค่าใช้จ่ายก็ยังมีต่อไป แถมมีมากขึ้นเรื่อยๆตามเงินเฟ้อ มองไปมองมา เงินได้ที่จะพอช่วยเหลือยามเกษียณได้ก็มี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากกองทุน RMF จากประกันบำนาญ และจากประกันสังคม

โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม เราจะได้เมื่อเราอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยสามารถรับได้ในรูป เงินบำเหน็จ หรือ บำนาญ ดังนี้

  1. ถ้าเราจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน เราจะได้บำเหน็จชราภาพ จำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จำนวนเงินที่เราจ่ายเป็นเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ไม่ได้ผลตอบแทนอะไรทั้งสิ้น
  2. ถ้าเราจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ครบ 180 เดือน (เท่ากับ 15 ปี) เราจะได้เงินบำเหน็จชราภาพ จำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่เราและนายจ้างจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน
  3. ถ้าเราจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า180 เดือน เราจะได้บำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้น สุดลง และถ้าเรามีการจ่าย เงินสมทบเกิน 180 เดือน เราก็จะได้อัตราบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อ ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือนไปจนเสียชีวิต

เงื่อนไขที่เราจะได้เงินบำเหน็จหรือ บำนาญ คือ ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง คือ เราจะไม่เป็นสมาชิกประกันสังคม ซึ่งทำให้เราเสียสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ คือ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ไปด้วย

ถ้าดูจากสิทธิประโยชน์ที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อ สิทธิประโยชน์ในรูปเงินบำนาญดีที่สุด คือ รับเงินได้แน่นอนทุกๆเดือน ยิ่งตอนนี้คนไทยมีอายุยืนมากขึ้น ก็เท่ากับเราสามารถมีเงินได้ที่มั่นคงไปตลอดชีวิต แต่ถ้ารับเป็นเงินบำเหน็จตามข้อ 1 และ 2 ได้มาก้อนเดียว ใช่ไม่นานก็หมด เงินหมดแต่ค่าใช้จ่ายยังมีอยู่ แล้วจะอยู่ยังไง

ทีนี้จะทำยังไง ถ้าอยากได้รับเงินบำนาญ ก็คือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ จ่ายเงินสมทบให้ไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยการยืดอายุสมาชิกประกันสังคม โดยไปเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39) คนที่จะสมัครได้ต้องเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน และเมื่อสมัครมาตรา 39 แล้วจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 432 บาทต่อเดือน โดยเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน) โดยเราจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33     และได้นับอายุสมาชิกประกันสังคมต่อเนื่องจากมาตรา 33 ด้วย

ข้อเสียการต่ออายุประกันสังคมด้วยมาตรา 39 ก็คือ ช่วงที่ต่ออายุประกันสังคมด้วยมาตรา 39 จะไม่ได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญจากประกันสังคมทั้งสิ้น จะได้รับเมื่อออกจากสมาชิกประกัน โดยเงินบำนาญที่จะได้รับคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงในกรณีนี้จะต่ำกว่า 15,000 บาทแล้ว เพราะฐานบางส่วนจะคำนวณจากฐานที่ใช้ในตอนมาตรา 39 คือ  4,800 บาท แม้ว่าจำนวนปีที่ใช้คำนวณจะมากขึ้น แต่ด้วยฐานค่าจ้างที่ลดลงมากถึง 2 ใน 3 ทำให้เงินบำนาญเราลดน้อยลง ดังตัวอย่างนี้

สมมติในช่วง 60 เดือนสุดท้ายก่อนลาออกจากประกันสังคม เราส่งเงินสมทบมาตรา 33 ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท อยู่ที่ 40 เดือน และส่งเงินสมทบมาตรา 39 ที่ฐานเงินเดือน 4,800 บาท จำนวน 20 เดือน จะสามารถคิดเงินบำนาญได้ดังนี้

[(15,000 x 40) + (4,800 x 20)] / 60 จะได้ฐานค่าจ้างเฉลี่ยออกมาเป็น 11,600 บาท ซึ่งถ้าเราส่งเงินสมทบทั้งสิ้น 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 2,320 บาท (11,600 x 20%)

ดังนั้น ใครที่ต่ออายุมาตรา 39 ไม่ว่าจะต้องการบำนาญหรือต้องการสวัสดิการรักษาพยาบาลจะมีต้นทุนในการต่ออายุ คือ เงินบำนาญที่ได้อาจลดน้อยลง

แต่ถ้าใครก็ตามอยู่กรณีตามข้อที่ 3 คือได้รับบำนาญอยู่แล้ว และอยากได้รับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลจากประกันสังคม แต่ก็ไม่อยากให้เงินบำนาญลดน้อยลงตามฐานเงินสมทบของมาตรา 39 ก็สามารถทำได้ โดย

ให้แจ้งประกันสังคมขอรับบำนาญหลังจากออกจากงาน (อายุต้องไม่ต่ำกว่า 55 ปี) โดยได้รับเงินบำนาญตามฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (สมมติเท่ากับ 15,000 บาท) และให้แจ้งขอสมัครกลับเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39) ภายใน 6 เดือนนับจากออกจากงาน ด้วยวิธีนี้ การนับอายุสมาชิกประกันสังคมจะนับต่อเนื่องตลอดเวลาที่เราเป็นสมาชิกมาตรา 33 และ มาตรา 39 (เว้นช่วง 6 เดือนที่เราขอรับบำนาญ) และเมื่อไรในอนาคตที่เราขอออกจากสมาชิกประกันสังคมหลังจากเราต่ออายุประกันสังคมด้วยมาตรา 39 กรณีนี้ฐานเงินที่จะคำนวณบำนาญจะเป็นฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณบำนาญให้ครั้งแรก (คือฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท สมมติเท่ากับ 15,000 บาทตามที่กล่าวมา)

ข้อดี คือ ฐานเงินที่ใช้คำนวณไม่ลดลงตามฐานมาตรา 39 และอายุสมาชิกเพิ่มขึ้น ทำให้เราได้รับบำนาญมากขึ้น

ข้อควรระวัง คือ ต้องออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิไม่สามารถสมัครมาตรา 39 ได้

สรุป คือ ถ้าเรามีอายุสมาชิกประกันสังคมเกิน 180 เดือนสามารถรับบำนาญได้แล้ว แนะนำให้ขอรับบำนาญก่อนจะกี่เดือนก็ได้ แต่ห้ามเกิน 6 เดือนนับจากออกจากงาน (ไม่งั้นจะเสียสิทธิไม่สามารถต่อมาตรา 39 ได้) แล้วค่อยสมัครมาตรา 39 เพื่อคงฐานเงินในการคำนวณบำนาญไม่ให้ลดลงตามฐานเงินมาตรา 39